ประวิตร สั่งเร่งแก้ปัญหาความเค็มจากน้ำทะเลหนุนสูงทุกพื้นที่

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2021 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ให้ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำที่มีค่าความเค็มสูงเกินกว่ามาตรฐานเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงในขณะนี้

พล.ร.อ.พิเชษ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรมีความห่วงใยประชาชน โดยขอให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา สาเหตุความเค็มของน้ำในแม่น้ำสายหลักในพื้นที่อื่นๆด้วย นอกเหนือจากภาคตะวันออก เพื่อให้คุณภาพน้ำกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พื้นที่ภาคตะวันออกมีแหล่งน้ำ 14,560 แห่ง แยกเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง ขนาดกลาง 44 แห่ง และขนาดเล็ก 1 4,510 แห่ง ปัจจุบันมีการกักเก็บน้ำต้นทุนไว้แล้ว 1,942 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 64 จะมีความต้องการใช้น้ำ 1,790 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถบริหารการใช้น้ำได้อย่างเพียงพอ แต่เนื่องจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ต้องมีการใช้น้ำต้นทุนผลักดันน้ำเค็ม เพื่อรักษาคุณภาพน้ำไว้ จึงต้องบริหารแผนการใช้น้ำอย่างระมัดระวัง โดยให้กรมชลประทานจะติดตามค่าความเค็ม ณ สถานีวัดคุณภาพน้ำทั้ง 4 แห่งอย่างใกล้ชิด

สำหรับรายงานความเค็มสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 4 ก.พ.64 พบว่า 1.สถานีแจงร้อน 13.8 กรัม/ลิตร เวลา 10:00 น. 2.สถานีดาวคะนอง 12.2 กรัม/ลิตร เวลา 10:00 น. 3.สถานีบางกอกใหญ่ 10.6 กรัม/ลิตร เวลา 10:00 น. 4.สถานีเทเวศร์ 11.0 กรัม/ลิตร เวลา 16:00 น. 5.สถานีบางเขนใหม่ 7.2 กรัม/ลิตร เวลา 11:00 น. ทั้งนี้หากค่าความเค็มเกิน 1.2 กรัม/ลิตร ควรระมัดระวังในการใช้กับพืชทั่วไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม โดยมอบหมายให้ สทนช., กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกันประสานข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน เพื่อให้การบริหารทรัพยากรน้ำ การจัดทำโครงการต่างๆ มีการแบ่งหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน ไม่ให้มีความซ้ำซ้อน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดสรรน้ำครอบคลุมทุกภาคส่วน และให้มีน้ำที่มีคุณภาพใช้ เพื่อการเกษตร รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ