สทนช. เตรียมตั้งคณะทำงานชุดพิเศษแก้ปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม

ข่าวทั่วไป Thursday March 11, 2021 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำสายสำคัญว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มอย่างยั่งยืน เนื่องจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดสรรน้ำจากเขื่อนเพื่อผลักดันน้ำเค็มนั้น เป็นการเสียน้ำต้นทุนจำนวนมาก และจากสถิติย้อนหลังการใช้น้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง มีปริมาณสูงขึ้นทุกปี

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำสายสำคัญ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มน้ำต้นทุน โดยการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ตอนบน และการผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียงเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาล 2.ลดการใช้น้ำที่สูญเสียระหว่างทาง จากแหล่งน้ำมายังปลายน้ำ โดยการควบคุมการใช้น้ำทั้งภาคเกษตรและอื่นๆ ที่อยู่นอกแผนอย่างเคร่งครัด รวมถึงอาจมีมาตรการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก 3.การย้ายจุดสูบน้ำเพื่อจัดทำระบบประปาให้ไกลออกไปจากปากแม่น้ำ เพื่อลดอิทธิพลการรุกของน้ำทะเล และ 4.การสร้างประตูที่เหมาะสมป้องกันน้ำทะเลรุกในแม่น้ำ 4 สายหลัก ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงแนวทางการป้องกันผลกระทบดังกล่าวด้วย โดยสทนช.จะนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สทนช.จะดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานชุดพิเศษเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาทางเลือกเพิ่มเติม ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานปฏิบัติและผู้ทรงคุณวุฒิด้านน้ำจากสถาบันการศึกษา เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้สามารถกำหนดเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน นำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังอยู่ในระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำผังน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยเดินหน้าไปแล้ว 8 ลุ่มน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำในปี 2566 และในปี 2565 สทนช. ยังมีโครงการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางเลือกที่เหมาะสม และสอดคล้องต่อการบริหารจัดการน้ำกรณีเกิดวิกฤตในอนาคตด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ