สธ.เชิญชวนชายกลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนหลังพบอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าหญิง 3 เท่า

ข่าวทั่วไป Saturday March 20, 2021 13:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงใน 13 จังหวัดเป้าหมายระยะแรก ซึ่งตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-18 มี.ค.64 มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสะสม 61,791 ราย เป็นผู้ชาย 35.5% ผู้หญิง 64.5% อายุเฉลี่ย 44 ปี โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ 50.25% เจ้าหน้าที่ด่านหน้ารวม อสม. 11.08% ผู้มีโรคประจำตัว 6.26% ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วไป 32.39% และผู้สูงอายุ60 ปีขึ้นไป ฉีดไปแล้ว 0.02% (ข้อมูล Official Line หมอพร้อม ณ วันที่ 19 มีงคง64 เวลา 15.48 น.) และหลังจากเริ่มฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้วมีรายงานเป็นผื่นลมพิษ 2 รายหลังฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในการฉีดวัคซีนทั่วไป

นพ.โสภณ กล่าวว่า มีผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่าวัคซีนโควิดมีประโยชน์ในเรื่องของการลดการป่วยและลดการเสียชีวิต และยังมีข้อมูลที่น่าสังเกตในกลุ่มผู้เสียชีวิตในการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นผู้ชายมากถึง 22 รายสูงกว่าผู้หญิงที่พบเพียง 7 ราย ขณะที่ผู้ที่มารับการฉีดวัคซีนกลายเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

"ขอเชิญชวนผู้ชายในพื้นที่เป้าหมายซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว เข้ารับการฉีดวัคซีนทันทีเมื่อได้รับการติดต่อนัดหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิต และลดการป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาล สามารถดูแลคนในครอบครัวต่อไป" นพ.โสภณ กล่าว

นอกจากนี้ นักวิชาการยังเชื่อว่าวัคซีนจะช่วยลดการแพร่โรคในครอบครัวได้ หากพ่อแม่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แม้จะได้รับเชื้อแต่เชื้อจะน้อยลง ไม่สามารถแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว เพราะลูกๆ หลานๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปียังฉีดวัคซีนไม่ได้

สำหรับวัคซีนที่ประเทศไทยมีอยู่ขณะนี้มาจาก 2 บริษัท คือ ซิโนแวค ประเทศจีนฉีดให้กับประชาชนอายุ 18-59 ปี เนื่องจากมีข้อมูลด้านปลอดภัย หรือประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปยังมีน้อย จึงฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงอายุดังกล่าว ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าฉีดได้ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่อายุ 18 ขึ้นไป รวมถึงผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป

"ในระยะแรกที่มีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเพียง 100,000 กว่าโดสจึงนำไปใช้ฉีดเสริมในกลุ่มที่มีอายุ 60 ขึ้นไป ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ อสม. เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด่านหน้า ซึ่งยังไม่ได้ฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตามข้อจำกัดของวัคซีน เมื่อมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามากขึ้นในเดือนมิถุนายนจะนำไปฉีดให้กับทุกกลุ่มอายุตามแผนการฉีดวัคซีนที่วางไว้" นพ.โสภณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ