กนช. มอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องวางแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกฤดูฝนปี 64

ข่าวทั่วไป Thursday March 25, 2021 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝนปีนี้ โดยมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน อาทิ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อใช้รองรับน้ำหลาก ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา เตรียมความพร้อมเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบโดยเร็วก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อมอบหมายหน่วยงานนำมาตรการต่าง ๆ ไปจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ปริมาณฝนทั้งประเทศในเดือนมี.ค.ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 11% ส่วนเดือนเม.ย.จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 41% และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนปี 2564 ปริมาณฝนในเดือนพ.ค.จะมากกว่าปริมาณฝนเฉลี่ย 3% และเดือนมิ.ย.จะมากกว่าปริมาณฝนเฉลี่ย 7% จากนั้นในเดือนก.ค.และส.ค. ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% และ 1% ตามลำดับ ซึ่งอาจจะทำให้มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยเบื้องต้นกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงเป็นรายตำบล และแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมแผนรองรับเพื่อป้องกันผลกระทบให้กับประชาชนให้ไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเหมือนช่วงฤดูแล้งที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ปี 2564 ระยะกลาง ปี 2565-2570 และระยะยาว ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป โดยมี 5 เป้าหมายหลัก คือ 1. การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน 2. การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ 3. การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ 4. การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ และ 5. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย เพื่อศึกษา วิเคราห์สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งครอบคลุม 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง และลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 73 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปี 59.6 ล้านไร่ พืชไร่ 12.3 ล้านไร่ พืชผัก 1.1 ล้านไร่ ดังนั้นจากข้อมูลคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงปลายฤดูแล้งต่อเนื่องต้นฤดูฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยจะเป็นผลดีในการเพิ่มความชุ่มชื้นในดินหลังจากแห้งแล้งต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน รวมถึงการเตรียมแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรเป็นไปตามฤดูกาล ขณะเดียวกันยังจะช่วยเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ในอ่างฯ ที่มีน้ำใช้การน้อย รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำ ลำคลอง เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงที่คาดว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือน พ.ค.-ก.ค.64 โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาซ้อนทับข้อมูลกัน แล้วกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในระดับปานกลาง-ระดับมาก ร่วมกับฝนคาดการณ์ในระบบ One Map และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบกำหนดแผนปฎิบัติป้องกันผลกระทบให้กับประชาชนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ