สธ.ยันไทยไม่กระทบ แม้อินเดียชะลอส่งออกวัคซีนโควิดเพื่อใช้ในปท.มากขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday March 29, 2021 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณที่มีข่าวว่าประเทศอินเดียชะลอการส่งออกวัคซีนโควิด โดยให้ความสำคัญกับการใช้ในประเทศมากขึ้น โดยยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ เนื่องจากได้บริหารจัดการความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนโควิดไว้แล้ว

"มีข่าวว่าอินเดียระงับการส่งออกวัคซีน ให้ความสำคัญกับการใช้ในประเทศสูงขึ้น ทำให้แผนการส่งออกวัคซีนไปต่างประเทศชะลอลง ซึ่งจะกระทบโครงการโคแวกที่ในช่วงแรกประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งถ้าเราอยู่โครงการนี้เต็มตัวเพียงอย่างเดียว ก็จะได้รับผลกระทบ แต่ไทยเองมีมาตรการดูแลความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ถือว่าเราน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากที่อินเดียใช้มาตรการลดการส่งออกวัคซีน" นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการกระจายและฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-28 มี.ค.64 ได้กระจายวัคซีนซิโนแวก จำนวน 190,720 โดส ไปยัง 13 จังหวัด และวัควีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 79,780 โดส ไปยัง 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ 33,980 โดส สมุทรสาคร 30,000 โดส นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จังหวัดละ 5,000 โดส

ขณะที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 154,293 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 133,110 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 21,183 ราย ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ และหลังจากที่ได้รับมอบวัคซีนเพิ่มเติม ก็จะเร่งกระจายไปฉีดให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนรองรับการเปิดประเทศ

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศระลอกสองมีความต่อเนื่องจากปลายเดือน ธ.ค.63 เรื่อยมา ไม่ได้มีสาเหตุต้นทางแยกเด็ดขาดกันเหมือนที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกแรก ดังนั้นจึงยังไม่ถือเป็นการระบาดระลอกสาม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานการณ์ขณะนี้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่รายลดลงเป็นลำดับ โดยรอบสัปดาห์นี้ พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 8 จังหวัด และอยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมได้ และสามารถติดตามผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการได้มากขึ้น ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องคงมาตรการชีวอนามัยอย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีก ขณะเดียวกันในทางระบาดวิทยาต้องติดตามทิศทางการแพร่ระบาด เพื่อกำหนดแนวทางควบคุมให้เหมาะสมกับสถานการณ์

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สำหรับประเด็นเสี่ยงของตลาดบางแคที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีแผงค้าจำนวนมาก ไม่มีการจัดหมวดหมู่ ทำให้เกิดปัญหาลูกจ้างรับส่งสินค้าหลายแผง การให้พ่อค้า/แม่ค้าเมียนมาเช่าแผงค้าต่อ การไม่ควบคุมเรื่องสุขอนามัย ปล่อยให้มีการบ้วนน้ำหมากลงพื้น ส่วนแผงค้าที่คนไทยเป็นเจ้าของขายเอง จะมีการดูแลเรื่องความสะอาดได้ดีและไม่พบการแพร่เชื้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ