(เพิ่มเติม) ศบค.ปรับเป็นพื้นที่สีแดง 18 จ.-สีส้ม 59 จ.พร้อมกำหนดมาตรการคุมเข้มรอบใหม่

ข่าวทั่วไป Friday April 16, 2021 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้ มีมติเห็นชอบตามการเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ให้ปรับโซนสีในการดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดให้เหลือเพียงพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 18 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 59 จังหวัด พร้อมทั้งกำหนดมาตรการคุมเข้ม แต่ไม่มีคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) หรือการสั่งล็อกดาวน์แต่อย่างใด

"ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง จึงมีการออกข้อกำหนดที่จะควบคุมสถานที่เสี่ยงและไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้าย...หากมีผู้ติดเชื้อวันละ 1,500 ราย สิบวันก็ 15,000 ราย แม้จะมีทรัพยากรเพียงพอ แต่ก็เกิดปัญหากระจุกตัวในกรุงเทพฯ" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค. กล่าวว่า เป็นการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ในการระบาดระลอกเดือน เม.ย.64 หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทวีคูณและการกระจายไปทุกจังหวัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง กิจกรรมรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ และแพร่กระจายไปในครอบครัว เพื่อน และที่ทำงาน ประกอบกับหลังเทศกาลสงกรานต์จะมีผู้เดินทางเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้การแพร่ระบาดอาจมีมากขึ้น จนเกินศักยภาพของระบบบริการสาธารณสุขจะรองรับได้

โดย ศบค.ให้ปรับพื้นที่จังหวัดเป็น 2 สี คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด จังหวัดสีแดง 18 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น และพื้นที่ควบคุม จังหวัดสีส้ม อีก 59 จังหวัดที่เหลือ พร้อมออกข้อกำหนดที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.64 หรือหลังเที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 17 เม.ย. ดังนี้

ข้อ 1 ห้ามการดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค

(1) ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพรโรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 ม.ค.64

"กรณีของโรงเรียนนานาชาติที่จะต้องจัดสอบพร้อมกันกับประเทศอื่น ผู้อำนวยการ ศบค.ให้ทำหนังสือแจ้งขออนุญาตเข้ามาได้" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

(2) ห้ามการจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ

ข้อ 2 การปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการ อาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยให้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วัน

กรณีที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อได้มีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้ เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วันแล้วตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 19) ลงวันที่ 9 เม.ย.64 ให้คำสั่งดังกล่าวคงมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้ประเมินสถานการณ์และดำเนินการ ตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด

ข้อ 3 กำหนดพื้นที่สถานการณ์ กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ จำแนกตามเขตพื้นที่ ดังนี้

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระยอง จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี รวม 18 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(2) พื้นที่ควบคุม ให้พื้นที่จังหวัดอื่นนอกจากที่กำหนดใน (1) รวม 59 จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม

ข้อ 4 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน สำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกำหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วัน

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุด

ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้าน ได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ได้จนถึงเวลา 23.00 น. ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น

ข.การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ค.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุกที่งดการให้บริการ

ง.ร้านสะดวกซื้อ ชูเปอร์มาร์เกต ตลาคนัดกลางคืน ตลาคโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. สำหรับร้าน หรือสถานที่ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.

จ.สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม

(2) พื้นที่ควบคุม

ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและการบริโภคในร้านได้ ไม่เกินเวลา 23.00 น.

ข.การจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับร้านอาหารหรือสถานที่จำหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

ค.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น จนถึงเวลา 21.00 น. โดยให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการยาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุกที่งดการให้บริการ

ข้อ 5 การงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง รัฐขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคที่อาจทำให้เลี่ยงหรือมีโอกาสติดโรค

การตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมแต่ละพื้นที่ตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณืโควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ดดยต้องมีการจัดการระบบและระเบียบต่างๆ เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ที่ ศปก.ศบค.กำหนด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า มาตรการต่าง ๆ จะทดลองบังคับใช้เบื้องต้นอย่างน้อย 14 วัน จากนั้นจะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เพื่อพิจารณาผ่อนคลายมาตรการหากสถานการณ์ดีขึ้น แต่หากสถานการณ์ยังแย่ลงก็อาจจะเพิ่มเติมมาตรการอื่น ๆ รวมถึงให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดประเมินสถานการณ์ในจังหวัดนั้น ๆ หากมีความจำเป็นสามารถออกมาตรการเพิ่มเติมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ