(เพิ่มเติม) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,470 ราย ในปท.1,370-ตรวจเชิงรุก 100 ตายเพิ่ม 7 ราย

ข่าวทั่วไป Thursday April 22, 2021 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1,470 ราย ในปท.1,370-ตรวจเชิงรุก 100 ตายเพิ่ม 7 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,470 ราย ประกอบด้วย

  • ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,370 ราย
  • จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 100 ราย
  • เสียชีวิตเพิ่มอีก 7 ราย โดยทุกรายมีโรคประจำตัว

รายที่ 1 หญิงไทย อายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย อยู่ที่ จ.พัทลุง มีโรคประจำตัวคือโรคอ้วน มีประวัติไปสถานบันเทิงเมื่อวันที่ 7 เม.ย.64 ซึ่งสถานบันเทิงแห่งนั้นมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยวันที่ 16 เม.ย.64 ไปตรวจหาเชื้อ เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ จากนั้นวันที่ 17 เม.ย.64 ผลตรวจพบเชื้อและมีปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย วันที่ 19 เม.ย.64 ออกซิเจนในเลือดต่ำลง มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย.64

รายที่ 2 หญิงไทย อายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก อยู่ที่จังหวัดสระบุรี มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 5 เม.ย.64 โดยวันที่ 12 เม.ย.64 เริ่มมีอาการไข้ ไอ วันที่ 19 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล มีอาการหายใจลำบาก มีเสมหะ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และระบบหายใจล้มเหลว ผลตรวจพบเชื้อและเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย.64

รายที่ 3 ชายไทย อายุ 83 ปี อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 17 มี.ค.64 มีไข้สูง ไอแห้ง มีน้ำมูก อ่อนเพลีย โดยวันที่ 22 มี.ค.64 ไปรักษาที่คลินิกเอกชน วันที่ 23 มี.ค.64 ไปรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกจากหน่วยรถพระราชทาน ทราบผลตรวจวันรุ่งขึ้นว่าติดเชื้อ วันที่ 25 มี.ค.64 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันที่ 31 มี.ค.64 หอบเหนื่อยมากขึ้น ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการทรุดลงและเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.64

รายที่ 4 หญิงไทย อายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง อยู่ที่จังหวัดนครปฐม มีโรคประจำตัวเบาหวาน เมื่อวันที่ 13-15 เม.ย.64 ญาติเดินทางจาก กทม.มาเยี่ยม วันที่ 16 เม.ย.64 อาเจียนเป็นเลือด ญาตินำส่งโรงพยาบาล ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในวันที่ 17 เม.ย.64

รายที่ 5 ชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพพนักงานขับรถ อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 9 เม.ย.64 มีไข้ ไอ เหนื่อย วันที่ 17 เม.ย.64 ไข้สูง 40 องศา ไอ มีเสมหะ หนาวสั่น กินได้น้อยลง จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลและรับยากลับบ้าน วันที่ 19 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการหายใจเหนื่อย ตรวจหาเชื้อพบว่าติดเชื้อ มีปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย.64

รายที่ 6 ชายไทย อายุ 59 ปี เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวเบาหวาน มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 14 เม.ย.64 มีอาการไอ วันที่ 20 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ผลตรวจพบเชื้อและเสียชีวิตในวันเดียวกัน

รายที่ 7 ชายไทย อายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง อยู่ กทม. มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 5 เม.ย.64 และวันที่ 16 เม.ย.64 ผลตรวจพบเชื้อ ไอแห้ง อ่อนเพลีย วันที่ 18 เม.ย.64 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันที่ 20 เม.ย.64 มีอาการเหนื่อยหอบ ไข้สูง ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ อาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 21 เม.ย.64

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 48,113 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 23,953 ราย ตรวจคัดกรองเชิงรุก 20,914 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,246 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 29,848 ราย เพิ่มขึ้น 477 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 117 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้วิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการระบาดทั้ง 3 ระลอก ซึ่งปรากฏว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีประวัติเชื่อมโยงจากสถานบันเทิง บ่อน สนามมวย รองลงมาคือ ทำงานในแหล่งชุมชน ตลาด และการติดเชื้อในครอบครัว และพบว่า กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด นอกจากนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้เสียชีวิตในปีนี้เกิดจากการติดเชื้อในครอบครัว

ส่วนเรื่องของคลัสเตอร์ใน จ.นครราชสีมา พบว่าจาก 5 กลุ่มก้อน ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิดไปแล้ว 71 คน โดยกลุ่มก้อนที่ จ.นครราชสีมา ทางกรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์แล้วมีทั้งหมด 7 คลัสเตอร์ รวมไปถึงที่ จ.ชัยภูมิด้วย เกิดจากงานเลี้ยงวันเกิดที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มรวดเดียว 47 ราย โดยเริ่มจากมีเพื่อนไปเที่ยวที่เยาวราชแล้วมาติดในงานวันเกิด ทำให้เกิดคลัสเตอร์ตามมาอีก 7 คลัสเตอร์ คือ 1.งานเลี้ยงวันเกิด อ.ปากช่อง 2.โรงเหล้า จ.นครราชสีมา 3.ร้านหมูกระทะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา 4.ร้านคาราโอเกะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา 5.ผับ บาร์ จ.ชัยภูมิ 6.งานเลี้ยงทหารอากาศ อ.เมือง จ.นครราชสีมา และ 7.กลุ่มครอบครัวบุคลากรทางการแพทย์

ส่วนกรณีมีข่าวว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้มีอาการอัมพฤกษ์นั้น นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้พูดคุยเรื่องดังนี้ และมีการนำข้อมูลคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน ซึ่งมีกลุ่มของวิชาชีพทางด้านโรคติดเชื้อ โรงเรียนแพทย์ได้ให้ความเห็นอย่างกว้างขวางว่า 6 รายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนล็อตที่มีการนำเข้าแต่อย่างใด

พร้อมยืนยันว่า ยังเดินหน้าฉีดวัคซีนต่อไป และเป็นการฉีดด้วยความสมัครใจ และไม่มีการบังคับ แม้จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ก็ให้บุคคลนั้นเป็นผู้ตัดสินใจเอง และยืนยันว่าไม่มีการปิดบังใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนการเกิดคลัสเตอร์ใหม่กระจายไปหลายจุด ซึ่งสถานประกอบการเองต่างมีความกังวล และคนไปใช้บริการเองก็มีความกังวลว่าจุดที่ไป จะไม่เป็นแหล่งระบาดของเชื้อโรคจนกลายเป็นคัตเตอร์ใหม่ได้อย่างไรนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยใน ศบค.ชุดเล็ก เพราะนอกจากการรักษาแล้ว เรื่องการป้องกันก็มีความสำคัญ กรมอนามัยจึงได้มีการติดตั้งแพลตฟอร์ม "Thai Stop Covid Plus" โดยให้สถานประกอบการนำข้อมูลไปประเมินตนเองในการลงทะเบียนลูกค้าเข้าใช้บริการ ซึ่งตอนนี้ได้รับความร่วมมือ 3 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด คือ ขอนแก่น นนทบุรี และ ภูเก็ต ส่วนในพื้นที่ควบคุม 3 จังหวัด คือ ยโสธร มุกดาหาร และบึงกาฬ เพื่อสร้างความมั่นใจ

ส่วนความกังวลว่ากลุ่มที่มีการติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการน้อย เมื่อเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม จะทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้นและทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การมาอยู่รวมกัน จะต้องมีการเว้นระยะห่าง ที่สำคัญทุกคนจะต้องใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และปฏิบัติตามมาตรฐานทางการแพทย์ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สูงกว่าการอยู่ในชุมชน ซึ่งการออกแบบระบบนี้ ในต่างประเทศก็มีการสร้างโรงพยาบาลสนามเช่นเดียวกัน

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 144,431,869 ราย เสียชีวิต 3,071,625 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 32,602,051 ราย อันดับสอง อินเดีย 15,924,806 ราย อันดับสาม บราซิล 14,122,795 ราย อันดับสี่ ฝรั่งเศส 5,374,288 ราย และอันดับห้า รัสเซีย 4,727,125 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 105


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ