รมว.สธ.สั่ง Bubble and Seal โรงงานในสมุทรปราการ จำกัดวงโควิดระบาดสู่ชุมชน

ข่าวทั่วไป Monday May 10, 2021 18:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ใน จ.สมุทรปราการ หลังพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง จากการค้นหาเชิงรุกในโรงงานและในชุมชนใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 10 พฤษภาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อจำนวน 3,240 ราย เฉพาะวันนี้พบ 116 ราย โดย จ.สมุทรปราการมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 6,000 แห่ง จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว

โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มอบหมายให้สาธารณสุขจังหวัด แรงงานจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัดเข้าไปดำเนินการควบคุมโรค และเข้มมาตรการองค์กรในโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถานประกอบการ โดยในสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อได้ปิดทำความสะอาดแล้วใช้กลยุทธ์ Bubble and Seal ที่เคยใช้และประสบความสำเร็จใน จ.สมุทรสาคร จัดตั้ง Factory Quarantine เพื่อกักตัวกลุ่มผู้สัมผัสภายในโรงงาน จำกัดวงการแพร่ระบาดและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและชุมชน

นอกจากนี้ หน่วยงานท้องถิ่นได้สำรวจคัดกรองในชุมชน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่ระบบการรักษาตามอาการโดยเร็ว ตามกลุ่มอาการที่เหมาะสม ส่วนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อจากหน่วยบริการต่างๆ นอกจังหวัด เช่น สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลในเขต กทม.จะรับกลับเข้ารักษาใน จ.สมุทรปราการ โดยผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (กลุ่มสีเขียว) จะเข้ารับการรักษาใน Hospitel ส่วนผู้ที่มีอาการ (กลุ่มสีเหลือง) และมีอาการหนัก (กลุ่มสีแดง) จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ภายในจังหวัด ทั้งนี้ได้ปรับการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเร็วขึ้น

ส่วนภาพรวมสถานการณ์เตียงใน จ.สมุทรปราการ ทั้งภาครัฐ และเอกชน มีเพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อ Hospitel ประมาณ 2,000 เตียง ขณะนี้ว่างอยู่ประมาณ 40% อย่างไรก็ตาม อีกมาตรการควบคุมโรคที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดอัตราการป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิต โดยนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรในพื้นที่ รวมถึงแรงงานต่างชาติ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป เป็นเวลา 6 เดือน คาดว่าจะมีการฉีดวัคซีนได้ประมาณ 5,000 คนต่อวัน เดือนละ 1.5 แสนคน โดยเตรียมพร้อมรับประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม และ Walk in

"กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดหาและสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ไว้เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย รวมทั้งเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ดูแลผู้ติดเชื้อ ส่วนวัคซีนได้กระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนทุกคน ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด และทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดลดอัตราการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิต และขอให้มั่นใจว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาให้มีความปลอดภัย ไม่ด้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ ขออย่าให้หลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่ไม่มีข้อยืนยันเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน โดยอาการข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้บ้าง แต่กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบเฝ้าระวังติดตามอาการไว้แล้วเพื่อความปลอดภัย" นายอนุทิน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ