(เพิ่มเติม) สธ.แจงการกระจายวัคซีนเป็นไปตามแผน ศบค.แต่ขึ้นกับจังหวัด-กทม.ส่งต่อรพ./จุดฉีด

ข่าวทั่วไป Sunday June 13, 2021 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวชี้แจงประเด็นการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 โดยนายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า จากกรณีที่โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข ขอชี้แจงว่า ในการดำเนินงานบริหารจัดการวัคซีนกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดหา โดยองค์การเภสัชกรรม และกรมควบคุมโรคเป็นผู้กระจายวัคซีนตามแผนที่ศบค.วางไว้ ได้แก่ ใน 76 จังหวัด และกทม., ประกันสังคม, อธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 11 สถาบัน, องค์กรภาครัฐ และสำรองไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินมากกว่า 2 แสนโดส โดยตั้งเป้าหมายว่าก่อนเดือนกันยายน 2564 คนไทยประมาณร้อยละ 60-70 จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เพื่อให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันในเดือนตุลาคม และทำการเปิดประเทศต่อไป

สำหรับการจัดหาวัคซีนที่ผ่านมา ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม มีประสิทธิภาพ แต่ในช่วงเดือนมิถุนายนวัคซีนที่จัดหามีน้อยกว่าที่วางแผนไว้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับแผนการบริหารจัดการในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายนนี้ โดยพยายามจัดสรรเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือสองสัปดาห์ เพื่อให้การฉีดวัคซีนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนการจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัด เป็นผู้บริหารจัดการฉีดให้กับประชาชนเป้าหมายให้สอดคล้องกับช่วงเวลา และจำนวนวัคซีนที่ได้รับ เช่น ในกรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดสรรวัคซีนกว่าล้านโดสในเดือนมิถุนายน ซึ่งต้องมีการวางแผน กำหนดเป้าหมาย รวมถึงกระจายไปยังครือข่าย ศูนย์ฉีดวัคซีนต่างๆ และมีการกำหนดทิศทางร่วมกัน เพื่อให้เกิดการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อไป

ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการกระจายวัคซีนตามการจัดสรรของที่ประชุม ศบค. โดยตั้งสมมติฐานว่าเดือนมิถุนายน จะได้รับจำนวน 6.3 ล้านโดส แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ทั้งในส่วนจังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงกองทุนประกันสังคม มหาวิทยาลัย องค์กรภาครัฐ และสำรองสำหรับสถานการณ์การระบาดฉุกเฉิน ในจำนวนนี้ กทม. จะได้รับจำนวน 1,160,000 โดส ส่วนอีก 76 จังหวัดที่จะได้ 3,220,000 โดส ซึ่ง ศบค.ได้กำหนดข้อแม้ไว้ว่าหากวัคซีนไม่ได้รับตามเป้าจะมีการลดทอนตามสัดส่วนหรือหากเกิดการระบาดสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงจากนี้ได้

ส่วนนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงหลักการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ว่า การจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ใช้ข้อมูลทางวิชาการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายเชิงประชากร โดยในช่วงกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม เริ่มฉีดกลุ่มแรกคือ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยหรือมีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ อสม. เป็นต้น และฉีดประชาชนบางส่วนในพื้นที่ระบาด ส่วนเดือนมิถุนายนฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่หากติดเชื้อมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยเปิดให้นัดหมายเข้ารับวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจำนวนมากพร้อมกันทั่วประเทศซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา จึงมีนโยบายให้กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมายเป็นหลักก่อน นอกจากนี้ ยังมีการฉีดในประชาชนเพื่อควบคุมการระบาด และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเพิ่มเติม เช่น กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเตรียมเปิดเทอม , คนทำงานขนส่งสาธารณะเนื่องจากมีความใกล้ชิดประชาชน ช่วยป้องกันไม่ให้รับเชื้อและแพร่เชื้อต่อ เป็นต้น

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดส่งวัคซีนให้ทุกจังหวัดตามนโยบายของ ศบค. ซึ่งคิดจากตัวเลขที่แต่ละจังหวัดตั้งมาและปรับตามสูตรการคำนวณ ให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ส่งมอบให้กรมควบคุมโรค โดยเดือนมิถุนายนมีการกระจายวัคซีนเป็น 2 งวด ครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ คือ งวดแรกวันที่ 7-20 มิถุนายน ประมาณ 3 ล้านโดส คือ ซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 2 ล้านโดส เบื้องต้นมีการจัดส่งไปยัง กทม. 5 แสนโดส (แอสตร้าเซนเนก้า 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส) สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดสฉีด กทม.เป็นหลัก กลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่งของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 1.5 แสนโดส ฉีด กทม.เป็นหลัก กลุ่มหมอพร้อม 76 จังหวัด 1.1 ล้านโดส จุดฉีดต่างๆ สำหรับองค์กรภาครัฐ เช่น ขนส่ง ทหาร ตำรวจ และครู 1 แสนโดส และควบคุมการระบาด 5 หมื่นโดส ส่วนงวดที่ 2 สำหรับวันที่ 21 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม อีก 3.5 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดสรวมมากกว่า 6 ล้านโดส

"กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งวัคซีนโควิด 19 ตามนโยบายรัฐ ส่วนภารกิจการกระจายต่อไปยังโรงพยาบาลหรือจุดฉีดในแต่ละจังหวัดเพื่อให้เกิดการฉีดวัคซีนได้อย่างต่อเนื่องนั้น มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดำเนินการต่อ ซึ่งขอให้แต่ละจังหวัดปฏิบัติตามนโยบาย โดยเน้นฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมก่อน เพื่อป้องกันกลุ่มมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต"นายแพทย์โสภณกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ