ธ.ก.ส.แนะเกษตรกรทำประกันภัยโคนม-โคเนื้อ ป้องกันความเสี่ยงโรคลัมปีสกิน

ข่าวทั่วไป Monday June 21, 2021 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธ.ก.ส.แนะเกษตรกรทำประกันภัยโคนม-โคเนื้อ ป้องกันความเสี่ยงโรคลัมปีสกิน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคและกระบือ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยพบการระบาดแล้วกว่า 62 จังหวัด ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง และสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำประกันภัยผ่านโครงการประกันภัยโคนม และโครงการประกันภัยโคเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโค อันเนื่องมาจากการตายของโคที่เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ให้สามารถพยุงตัวได้และมีทุนเหลือเพียงพอต่อการเริ่มต้นใหม่

ธ.ก.ส.แนะเกษตรกรทำประกันภัยโคนม-โคเนื้อ ป้องกันความเสี่ยงโรคลัมปีสกิน

ทั้งนี้ โครงการประกันภัยโคนม มี บมจ.อาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้รับประกันภัย โดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตัวละ 810 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแล้ว) ซึ่งให้ความคุ้มครองการตายจากการเจ็บป่วยของโคนม ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว การตายจากอุบัติเหตุไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว และการตายจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม และลมพายุไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี โดยโคนมต้องมีใบรับรองสุขภาพจากสัตวแพทย์ อายุโคนมตั้งแต่ 18 เดือน - 8 ปี ทั้งนี้ สามารถทำประกันภัยโคนมบางตัวในฟาร์มได้

ด้านโครงการประกันภัยโคเนื้อ มีบมจ. ทิพยประกันภัย (TIP) และ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย (SMK) เป็นผู้รับประกันภัย โดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตัวละ 400 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแล้ว) ซึ่งให้ความคุ้มครองการตายจากการเจ็บป่วยของโคเนื้อ ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว และการตายจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ดินถล่ม พายุ และแผ่นดินไหว ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว ระยะเวลาคุ้มครองสิ้นสุดเมื่อส่งขายคอกกลางหรือ 6 เดือนนับจากวันขอเอาประกันภัย

โดยโคเนื้อที่ขอเอาประกันภัยต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีความพิการซึ่งมีผลกับสุขภาวะ และไม่เป็นโรคเรื้อรัง ไม่อยู่ระหว่างการรักษาพยาบาล มีอายุไม่เกิน 36 เดือน ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ และมีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (NID คือ การเขียนที่ใบหู / RFID คือ การฝังชิบที่ใบหู) มีบันทึกประวัติถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย และโรคคอบวม (Hemorrhagic Septicemia) มาแล้วไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ขอเอาประกันภัย โดยเกษตรกรผู้เอาประกันภัยจะต้องแสดงเอกสารยืนยันตัวตนของโคเนื้อ

"ทั้ง 2 โครงการ ผู้ขอเอาประกันภัยต้องเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ โดยโคที่ขอเอาประกันภัยต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ปราศจากโรคหรือไม่เจ็บป่วยในช่วงระยะเวลารอคอย หรือภายในช่วง 30 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์เริ่มมีผลคุ้มครอง" ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ