
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบกลาง ปี 2564 จำนวน 824 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วงเงิน 140 ล้านบาท และใช้สำหรับการควบคุมโรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือ วงเงิน 684 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ทั้งนี้ ในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จะครอบคลุมถึงการป้องกันโรคระบาดร้ายแรงในสุกร รวมทั้งหมูป่าด้วย
"วงเงิน 140 ล้านบาทนี้ จะใช้เป็นค่าชดเชยสุกรที่ถูกทำลาย ขอย้ำว่าสุกรที่ถูกทำลายนี้ เป็นสุกรที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรค แต่เมื่อนำไปตรวจเลือดแล้ว สุกรที่ถูกทำลายทุกตัว ผลไม่พบการติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกา โดยงบประมาณนี้จะใช้ในการเฝ้าระวัง การตรวจวินิจฉัย และการเฝ้าทำลายเชื้อโรค และซากสัตว์ด้วย" น.ส.รัชดา ระบุสำหรับภาพรวมการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรนี้ เริ่มเข้ามาในทวีปเอเชียครั้งแรกที่ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ในขณะที่ไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีการระบาดของโรคนี้ จึงทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่การส่งออกเนื้องสุกรเติบโตเป็นอย่างมาก
"รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ ในการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงมาโดยตลอด มีการอนุมัติงบกลางไปแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 63 จำนวน 523 ล้าน ส่วนปี 64 ก่อนหน้านี้ 279 ล้านบาท"ส่วนการควบคุมโรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือ ที่ให้วงเงิน 684 ล้านบาทนั้น จะแบ่งเป็น 1.ค่าตอบแทนอาสาปศุสัตว์ 2.ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปีสกิน ที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย โดยจะมีการนำเข้าอีก 5 ล้านโดส เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่นำเข้ามาแล้ว 3.ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์การฆ่าเชื้อในฟาร์ม และพาหนะการเคลื่อนย้ายสัตว์ 4.ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อรักษาและฟื้นฟูบำรุงสุขภาพโค-กระบือ 2 แสนตัว 5.ค่าวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ สำหัรบการเก็บตัวอย่างฉีดวัคซีนและรักษา
"เนื่องจากโรคลัมปีสกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ในโค-กระบือ เป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย จึงจำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ประสานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินจากพืช คาดว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีการรายงานผลการพัฒนาวัคซีนจากพืชอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะถือเป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีนจากพืชสำหรับการป้องกันโรคอื่นๆ ต่อไป" น.ส.รัชดา กล่าว