สธ.ชี้หากตรวจ ATK แล้วมีผลบวก ให้ทำ Home Isolation ได้ไม่ต้อง RT-PCR ซ้ำ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 27, 2021 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) หากผล ATK เป็นบวก จะเรียกว่า "ผู้ที่น่าจะติดเชื้อ" (Probable cases) ซึ่งกรณี ATK เป็นบวกสามารถรับยา และเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation (HI) ได้ทันที อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใน Community Isolation (CI) หรือในสถานพยาบาล ผู้ที่น่าจะติดเชื้อสามารถเข้ารับการรักษาได้ แต่ควรทำการตรวจ RT-PCR คู่ขนานไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่น่าจะติดเชื้อจะต้องยินยอม และเซ็นใบยินยอมเข้ารับการรักษา โดยระหว่างการรักษาแพทย์จะพยายามแยกผู้ป่วยกลุ่มนี้ออกจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ระหว่างรอผล RT-PCR เนื่องจากการตรวจเชื้อด้วย ATK อาจให้ผลบวกลวงได้ 3-5% ซึ่งอาจเป็นการนำผู้ป่วยที่ไม่ได้ติดเชื้อจริงไปอยู่ร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อจริงได้ พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างการเตรียมยกระดับศูนย์พักคอยทุกแห่งให้สามารถรองรับการตรวจแบบ RT-PCR ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ส่งผลให้การควบคุมโรคโควิด-19 ได้สำเร็จ คือ จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน, ระบบการควบคุมโรคที่ดี, ระบบการรักษาพยาบาลที่เข้มแข็ง, การฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม และทุกภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือ

"ขณะนี้พบว่าการล็อกดาวน์ไม่เป็นผล โดยยังเห็นการจราจรที่ค่อนข้างเยอะ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้ ถือว่าเกินความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขไปกว่า 2-3 เท่าแล้ว เนื่องจากเตียงใน กทม. ทั้งเตียงสีเหลือง และสีแดง ขาดแคลนอยู่ในขั้นติดลบ รวมถึงไทยประสบปัญหาการลักลอบถังออกซิเจนผ่านชายแดนต่างๆ ด้วย" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บอร์ด สปสช.ได้มีมติอนุมัติการแจกชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) เรียบร้อยแล้ว โดย สปสช.ได้ประสานกับเครือข่าย รพ.ราชวิถี ซึ่งจะมีการประสานต่อไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยหลังจากมีการตรวจสอบด้านเทคนิคแล้ว จะทำการเปิดหาบริษัทเพื่อเสนอราคาในวันที่ 29 ก.ค.นี้ โดยคาดว่าภายในต้นเดือน ส.ค. จะสามารถกระจายชุด ATK ไปยังรพ. ต่างๆ ในพื้นที่สีแดงได้ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถมารับชุดตรวจ ATK ไปตรวจที่บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

การตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ให้สำหรับคนไทยที่เข้าเกณฑ์ ดังนี้ 1. เกณฑ์กลุ่มเสี่ยง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 2. การตรวจคัดกรองก่อนท่าหัตถการ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และ 3. แพทย์ผู้ตรวจรักษาประเมินว่ามีความจำเป็นตามดุลยพินิจของแพทย์

โดยการเบิกจ่ายชดเชยในการตรวจ ATK มีดังนี้

1. เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการ สถานบริการอื่น ที่ให้บริการประชาชนไทยทุกคน

2. เกณฑ์การตรวจคัดกรอง ได้แก่ เกณฑ์กลุ่มเสี่ยง คัดกรองก่อนทำหัตถการ แพทย์ผู้ตรวจรักษาประเมินว่ามีความจำเป็นตามดุลยพินิจของแพทย์

3. การใช้ชุดตรวจ ATK ต้องผ่านการประเมิน และขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

4. หน่วยบริการให้ประชาชน ณ จุดรับบริการ โดยขอ Authentication Code ด้วยบัตร Smart card หรือตามแนวทางดำเนินการที่สปสช. กำหนด โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

5. การรายงานผลการตรวจให้ สปสช.ทราบทุกราย เพื่อเป็นการติดตามประเมินว่ามีการให้บริการกับประชาชน

6. กรณีผลการตรวจ ATK เป็นผลบวก ภายใต้การกำกับการดูแลของแพทย์ โดยพิจารณาดังนี้ ให้การดูแลการรักษาแบบ HI ส่วนกรณีมีความจำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน หน่วยบริการสามารถรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน หรือกรณีไม่มีศักยภาพให้ส่งต่อไปรักษาในเครือข่ายของหน่วยบริการ หรือสถานบริการที่มีศักยภาพ

7. อัตราจ่ายค่าใช้จ่ายค่าตรวจ ATK ดังนี้ การตรวจด้วยเทคนิค Chromatography จ่ายตามจริงไม่เกิน 450 บาท/ครั้งบริการ และการตรวจด้วยเทคนิค Fluorescent Immunoassay (FIA) จ่ายตามจริงไม่เกิน 550 บาท/ครั้งบริการ โดยมีผลการเข้ารับบริการตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 64 เป็นต้นไป

ส่วนการจ่ายชดเชยบริการแบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ถ้าเป็นการทำ HI หน่วยบริการสามารถดำเนินการได้เลย ส่วน CI จะต้องผ่านความเห็นชอบให้ดำเนินการจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยอัตราจ่าย HI และ CI สำหรับบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป (OP) จะบริการด้วยสิทธิหน่วยบริการในระบบ UC (ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขรายการบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว) ส่วนกรณีการให้บริการผู้ป่วยใน (IP) หน่วยบริการจะจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) และจ่ายเพิ่มเติมตามรายการที่กำหนด ได้แก่

1. RT-PCR ตรวจ Lab 1,600 บาท/ครั้ง, ค่าอื่นๆ ในห้อง Lab 600 บาท/ครั้ง และค่าเก็บ Swab 100 บาท/ครั้ง

2. ค่าดูแลการให้บริการผู้ป่วย จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาท/วัน (ค่าอาหาร 3 มื้อ ติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา)

3. ค่าอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล และเครื่อง Oxygen Sat ตามรายการที่ใช้จริงไม่เกินจำนวน 1,100 บาท/ราย

4. ค่ายาที่เป็นการรักษาเฉพาะโควิด-19 จ่ายตามจริงไม่เกิน 7,200 บาท/ราย

5. ค่ารถส่งต่อ จ่ายตามจริงตามระยะทาง รวมค่าทำความสะอาด 3,700 บาท

6. ค่า Chest X-ray จ่ายในอัตรา 100 บาท/ครั้ง (จ่ายเฉพาะ OP)

7. กรณี CI จะให้ค่าชุด PPE หรือค่าอื่นๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ จ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาท/วัน

สำหรับปัญหาผู้ป่วยที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก ซึ่งขั้นตอนถัดมาคือต้องลงทะเบียนข้อมูลผ่าน 1330 แล้วประสบปัญหาโทรไม่ติดนั้น ขณะนี้ สปสช.ได้ทำการเพิ่มคู่สาย 1,600 คู่สายแล้ว และจะมีการจัดหาบริษัทเอกชนเพิ่มอีก 500 ที่นั่ง เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของ สปสช.ได้อีกช่องทางหนึ่ง หรือสามารถติดต่อ 1668 และ 1669 ได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ