สธ. ยันฉีดซิโนแวค+แอสตร้าฯ มีภูมิคุ้มกันเดลตาเทียบเท่าฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม

ข่าวทั่วไป Thursday August 19, 2021 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยถึงงานวิจัยของการฉีดวัคซีนแบบสลับ จากการตรวจภูมิคุ้มกันแบบภาพรวม พบว่าการฉีดวัคซีนแบบสลับ โดยฉีดวัคซีนซิโนแวคตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะให้ภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 716 สูงกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 207 ซึ่งถือว่าสูงกว่าประมาณ 3 เท่า

ทั้งนี้ จากการตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตาโดยเฉพาะ พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะให้ภูมิคุ้มกันที่ดีพอๆ กับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม คือ 78.64 และ 76.52 ตามลำดับ

จากงานวิจัยการฉีดวัคซีนแบบสลับ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าจากการศึกษากลุ่มตัวอย่างของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยกลุ่มตัวอย่างมีทั้งหมด 125 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 61 ราย และเพศหญิง 64 ราย อายุเฉลี่ย 40 ปี (18-60 ปี) พบว่ามีระดับภูมิคุ้มกัน Quantitative Anti-S RBD (การวัดภูมิคุ้มกันแบบภาพรวม) ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคสลับกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ผลเฉลี่ยอยู่ที่ 716 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มที่ 117 หรือการฉีดสลับสูงกว่าประมาณ 6 เท่า และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มที่ 207 หรือการฉีดสลับสูงกว่าประมาณ 3 เท่า ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนแบบสลับ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะเหมือนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม คือมีไข้ ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย และไม่มีแรง

สำหรับวิธีการตรวจภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับวัคซีน จะดำเนินการตรวจสอบด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) โดยจะนำตัวอย่างเลือด หรือซีรั่มของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาเจือจาง และทำการเพาะเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาจริง เนื่องจากประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาแล้วกว่า 90% จากการทดสอบโดยการนำซีรั่ม และไวรัสมาผสมกัน ผลที่ได้พบว่า

1. ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาในผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค+วัคซีนซิโนแวค พบค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 24.28 (n=50)

2. ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาในผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า+วัคซีนซิโนแวค พบค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 25.84 (n=30)

3. ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาในผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า+แอสตร้าเซนเนก้า พบค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 76.52 (n=31)

4. ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาในผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค+วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 78.64 (n=30)

5. ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาในผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค+วัคซีนซิโนแวค และฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า พบค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 271.2 (n=30)

6. ภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลตาในผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค+วัคซีนซิโนแวค และฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนซิโนฟาร์ม พบค่าเฉลี่ยภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 61.27 (n=14)

โดยสามารถสรุปผลการทดลองได้ ดังนี้

1. ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค+วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะให้ภูมิคุ้มกันที่ดีพอ ๆ กับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสั้นลง โดยใช้เวลาในการฉีดแบบสลับเพียง 3 สัปดาห์ และสามารถวัดภูมิคุ้มกันได้ภายใน 5 สัปดาห์

2. ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า+วัคซีนซิโนแวค เนื่องจากให้ภูมิคุ้มกันที่น้อย

3. การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลังได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากกับสายพันธุ์เดลตา

4. การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนซิโนฟาร์มหลังได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม พบภูมิสูงขึ้น แต่ยังน้อยกว่าการกระตุ้นด้วยวัคซีนต่างชนิด (Platform) ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างที่ทดลองยังมีจำนวนน้อยเพียง 14 ราย จึงต้องมีการศึกษาทดลองต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาว่าภูมิคุ้มกันที่ปรากฎนั้นจะมีระยะเวลาอยู่ได้นานเท่าใด สำหรับการทดลองการฉีดวัคซีนกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวมรวบข้อมูล เนื่องจากเป็นวัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทยไม่นาน จึงยังไม่มีผลการศึกษาในส่วนนี้ โดยหลังจากนี้จะเริ่มทำการศึกษาภูมิคุ้มกันของวัคซีนไฟเซอร์ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาไม่เกิน 1 เดือน เนื่องจากขณะนี้มีประชากรที่ฉีดวัคซีนกระตุ้นด้วยไฟเซอร์แล้ว และจะเริ่มหาอาสาสมัครที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 2 สัปดาห์ เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดมาทดลอง โดยจะใช้เวลาทดลองอีก 1 สัปดาห์จึงจะทราบผล

"หลังจากฉีดวัคซีนทุกชนิด ภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ ลดลงเป็นปกติ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลมาตรฐานว่าภูมิต้องเกินค่าเท่าไร จึงจะสามารถป้องกันโรคได้ นอกจากนี้ ยังยืนยันคำเดิมว่าประชาชนทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาภูมิคุ้มกันเอง เนื่องจากผลที่ได้ยังไม่เสถียร และมีหลายปัจจัยทั้งจากตัววัคซีน และจากตัวบุคลคลในการวิเคราะห์ผล" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างการศึกษาการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง แทนการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ เนื่องจากพบข้อมูลบางส่วนว่าการฉีดเข้าชั้นผิวหนังใช้ปริมาณวัคซีนลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหากข้อมูลเป็นจริง ก็จะสามารถใช้วัคซีนในปริมาณที่น้อยลงต่อการฉีด 1 คน ซึ่งจะทำให้สามารถกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ