กอนช.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจากฝนตกหนัก ช่วง 8-12 ก.ย.

ข่าวทั่วไป Wednesday September 8, 2021 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กอนช.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจากฝนตกหนัก ช่วง 8-12 ก.ย.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือนประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เสี่ยงให้เฝ้าระวังผลกระทบจากน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 8-11 ก.ย.64

โดย กอนช.คาดการณ์ปริมาณฝนตก ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 8-12 ก.ย.64 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้

1.เฝ้าระวังน้ำหลากและดินถล่ม

  • บริเวณภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และอุทัยธานี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
  • ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี
  • ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี และตราด

2.เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 30 แห่ง ประกอบด้วย

  • ภาคเหนือ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสันหนอง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่งอน และอ่างเก็บน้ำน้ำแหง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 17 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำสวย อ่างเก็บน้ำน้ำเลย อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น อ่างเก็บน้ำห้วยส้มป่อย อ่างเก็บน้ำน้ำพรม อ่างเก็บน้ำห้วยส้มโฮง อ่างเก็บน้ำห้วยหินลับ อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ อ่างเก็บน้ำห้วยทา อ่างเก็บน้ำห้วยขาหน้า อ่างเก็บน้ำห้วยเดือนห้า อ่างเก็บน้ำห้วยโดน อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง และอ่างเก็บน้ำหนองกก
  • ภาคตะวันออก จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศาลทราย อ่างเก็บน้ำห้วยตู้ 1 อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างเก็บน้ำคลองระโอก อ่างเก็บน้ำบ้านมะนาว อ่างเก็บน้ำด่านชุมพล อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน อ่างเก็บน้ำช่องกล่ำล่าง อ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด และอ่างเก็บน้ำคลองวังบอน

3.เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ

  • ภาคเหนือ บริเวณแม่น้ำน่าน จังหวัดน่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์ แม่น้ำเข็ก และแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี แม่น้ำปิง คลองวังเจ้า และคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำชี ช่วงอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และแม่น้ำมูล ช่วงอำเภอพิมาย และลำเชียงไกร อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา
  • ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • ภาคตะวันออก บริเวณแม่น้ำปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี

4.เฝ้าระวังแม่น้ำโขง บริเวณจังหวัดเลย จนถึงจังหวัดอุบลราชธานี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในการนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

2.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 90% หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก

3.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

5.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ