บิ๊กป้อม สั่งสทนช.วางแผนรับมือฝน-ประเมินสถานการณ์น้ำ 2 เขื่อนใหญ่เมืองกาญจน์

ข่าวทั่วไป Saturday September 11, 2021 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ได้สั่งการและกำชับ สทนช.ติดตามประเมินผลความพร้อมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นรายจังหวัด โดยเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำหลากอย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง รวมถึงพายุโซนร้อน "โกนเซิน" บริเวณทะเลจีนใต้ ตามประกาศ กอนช.ฉบับที่ 10/2564 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 12-13 กันยายน 2564 ซึ่งรวมถึงจังหวัดกาญจนบุรี ที่พบว่ามีปริมาณฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ แม้จะยังไม่ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน "โกนเซิน" โดยตรง แต่คาดว่าจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้น และมีน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนศรีครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ คาดว่าปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ และคาดการณ์ 7 วันล่วงหน้า (7-16 ก.ย.64) จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวม 1,016 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนศรีนครินทร์ 516 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ 500 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับพื้นที่เป้าหมายสำคัญในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำครั้งนี้ คือ บริเวณ บ้านท่าเสด็จ ต.จรเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เนื่องจากเป็นจุดที่ประสบปัญหากัดเซาะตลิ่งรุนแรงในช่วงฤดูฝนจากปัจจัยความเร็วน้ำ โดยบริเวณดังกล่าว มีขนาดลำน้ำกว้างประมาณ 180 ม. อัตราน้ำหลากสูงสุดที่คาบอุบัติ 25 ปี ประมาณ 1,250 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ความเร็วสูงสุดประมาณ 2.89 เมตร/วินาที ด้วยความเร็วน้ำดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง มีแผนก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะตลิ่งในจุดบริเวณดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ความยาวประมาณ 720 เมตร ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำควบคู่กันด้วย

"ลักษณะทางกายภาพของลุ่มน้ำลำภาชี ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำแควน้อย เป็นลำน้ำสาขาสุดท้ายทางด้านท้ายน้ำ ก่อนที่แม่น้ำแควน้อยจะไหลบรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ ลำน้ำค่อนข้างชัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ อ.มะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี จึงมักประสบปัญหาการกัดเซาะตลิ่งพัง ส่งผลเสียหายต่อประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำเกินความจุลำน้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาสร้างเขื้อนป้องกันตลิ่งในบริเวณดังกล่าวมีความสอดคล้องจากผลการศึกษาผังน้ำ ที่ สนทช.กำลังดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้" นายสมเกียรติกล่าว

ขณะเดียวกัน จากผลการศึกษาแนวทางการศึกษาผังน้ำแม่กลอง ได้เสนอกรอบมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิผลสูงสุดในการลดพื้นที่น้ำท่วมในลำน้ำภาชี คือ การปรับปรุงช่องเปิดทางหลวงหมายเลข 3361 และ 3209 และถนนแยกย่อย รวมทั้งสิ้น 6 ตำแหน่ง สามารถลดพื้นที่ท่วมเหลือ 80,206 ไร่ ความลึกเฉลี่ย 1.35 เมตร ท่วม 7 วัน จากปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 92,500 ไร่ ความลึก 1.62 เมตร ระยะเวลาท่วม 15 วัน และหากใช้มาตรการปรับปรุงช่องเปิดและปรับปรุงลำน้ำร่วมกันจะลดพื้นที่ท่วมได้ถึง 62,388 ไร่ ความลึกเฉลี่ย 1.25 เมตร ระยะท่วม 5 วัน ผลการศึกษายังเสนอแนวทางควรเป็นลักษณะโอบล้อม (Polder System) และมีระบบสูบน้ำเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ป้องกัน เป็นต้น ซึ่ง สทนช.จะส่งต่อผลการศึกษาดังกล่าว เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานรับผิดชอบนำไปกำหนดแผนงานโครงการสู่การปฏิบัติโดยเร็วต่อไป

"การศึกษาระบบผังน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง สทนช.ได้รับฟังความเห็นการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนต่อโครงการฯ อาทิ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มเกษตร สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ รวมถึงชี้แจงทำความเข้าใจในการกำหนดขอบเขต 4 พื้นที่หลัก ที่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำที่ไม่ส่งผลต่อการเบี่ยงเบนทางน้ำ กระแสน้ำ หรือกีดขวางการไหลของน้ำที่เป็นอุปสรรคในการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมน้ำแล้ง รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำได้ในอนาคต" นายสมเกียรติ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ