สทนช.เร่งพัฒนาลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียง-ต้นน้ำพองแก้น้ำท่วม-ภัยแล้งอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Sunday September 19, 2021 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการแก้มลิงหนองทุ่ม และแก้มลิงโสกหินเหล็กไฟ ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ว่า เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาคือเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งและพัฒนาแหล่งน้ำการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ให้แก่ประชาชนในพื้นที่กว่า 200 ครัวเรือน โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ 700 ไร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียงและต้นน้ำพอง ที่ สทนช.เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้งมานาน

โดยพบว่าแต่ละปีมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 3,700 ไร่ เสี่ยงภัยแล้ง 487,000 ไร่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ อาทิ การขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค การทำเกษตรกรรม การท่องเที่ยว คุณภาพของแหล่งน้ำ รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำในพื้นที่ ซึ่งภายใต้การจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง และศึกษาความเหมาะสมโครงการ จะเน้นไปที่การบูรณาการลดความซ้ำซ้อนของแผนงาน/โครงการในพื้นที่ศึกษา โดยปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ซึ่งแผนงานโคงการสำคัญเพื่อพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำในพื้นที่ อาทิ โครงการบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่เกษตรน้ำฝนโดยการบูรณาการการใช้ทรัพยากรน้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดิน โครงการบรรเทาอุทกภัยและฟื้นฟูแหล่งน้ำ โครงการก่อสร้างระบบประปาบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในพื้นที่แหล่งน้ำบาดาลศักยภาพสูง

"ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายจังหวัดในภาคอีสานฝั่งตะวันตก ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น เลย ชัยภูมิ และหนองบัวลำภู ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์มีค่าต่ำกว่าปกติในช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำต่ำมาก และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงช่วงฤดูแล้ง ในปี 2563 ซึ่งพบว่าเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำกักเก็บต่ำที่สุดในรอบ 53 ปี ทำให้ได้รับผลกระทบจากการที่น้ำไหลเข้าสู่ระบบประปาได้น้อย ต้องลดความดันการส่งน้ำเข้าสู่ระบบประปา จากสถานการณ์วิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้น" นายสมเกียรติ กล่าว

ดังนั้น จากปัจจัยข้างต้น สทนช. จึงต้องเร่งศึกษาการจัดทำแผนเพื่อลดผลกระทบอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซากอย่างบูรณาการในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย โดยสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการอนุรักษ์ปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำ หากจะพัฒนาให้ยั่งยืน ที่สำคัญจะเน้นบูรณาการหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้ได้ด้วยตนเอง ผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เนื่องจากในปัจจุบันการดำเนินการตามแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่มีเป้าประสงค์ในการทำแก้มลิง หรือฝายขนาดต่างๆ เพื่อการบรรเทาภัยแล้งหรืออุทกภัยก็ดี เกิดความซ้ำซ้อนกันเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องวัถตุประสงค์ของแผนงาน ตัวชี้วัด พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ รวมไปถึงความซ้ำซ้อนของงบประมาณ ทำให้การบริหารจัดการงบประมาณไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ดังนั้น เมื่อมีแผนหลักการพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง-ลำพะเนียงและต้นน้ำพองแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้การจัดทำแผนงานด้านน้ำทุกระดับในพื้นที่มีทิศทางการพัฒนา มีเป้าหมายที่ชัดเจน และเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งสุดท้ายคือทำให้การแก้ไขและการบริหารจัดการด้านน้ำต่างๆ เริ่มต้นได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด

เลขาธิการ สทนช. ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังถือโอกาสติดตามผลสำเร็จโครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบกลางปี 2563 ที่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมขัง โดยเป็นการเก็บสะสมปริมาณน้ำ 2,600 ลบ.ม./ปี ไว้ในชั้นใต้ ซึ่ง สทนช. พร้อมให้การสนับสนุนให้โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินในระดับท้องถิ่น ให้กับพื้นที่ที่มีปัญหาอื่นๆ ได้นำไปขยายผลดำเนินการในรูปแบบเดียวกันด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ