กรมประมง ถก 3 สมาคมอุตสาหกรรมประมง เร่งขับเคลื่อนตามแผน MMPA ของสหรัฐ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 7, 2021 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศข้อกำหนดว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมง ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) เพื่อประเมินกฎระเบียบข้อบังคับการทำประมง และการทำประมงเชิงพาณิชย์ของประเทศที่ส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐอเมริกา ว่ามีการลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บรุนแรงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมา วาฬ พะยูน ฯลฯ

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศเริ่มใช้กฎหมาย MMPA เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 60 และกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี เพื่อให้ประเทศคู่ค้าได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 66 เป็นต้นไป โดยในช่วงระหว่างการผ่อนผันนี้ ประเทศไทยยังคงส่งสินค้าประมงไปจำหน่ายได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566-2570 ร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย กรมประมง จึงได้เชิญผู้ประกอบการจาก 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป มาหารือถึงแนวทางการการดำเนินการ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว โดยกรมประมงได้ชี้แจงถึงการดำเนินการ ดังนี้

1. มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน เพื่อเตรียมการและแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ 2. มีการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566-2570 และ 3. โครงการเร่งด่วนเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2565 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบในหลักการของแผนฯ และโครงการเร่งด่วนแล้ว เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้มีการจัดส่งข้อมูลในระบบการรายงานอิเล็กทรอนิกส์ (International Affairs Information Capture and Reporting System : IAICRS) ไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 64 ภายในระยะเวลาที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งสหรัฐฯ นำข้อมูลการทำประมงที่จับสัตว์น้ำในประเทศไปพิจารณาเปรียบเทียบมาตรฐาน (Comparability finding) และจะประกาศผลประมาณเดือนพ.ย. 65 ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ในระดับนโยบายได้ให้ความสำคัญ และติดตามการดำเนินการเป็นระยะ

ทั้งนี้ หลังการประชุมหารือดังกล่าว ผู้ประกอบการมีความเข้าใจ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามกระบวนการของทางภาครัฐ โดยได้มีการไปเจรจาหารือกับประเทศคู่ค้าที่ไทยมีการนำเข้าผลผลิตมาแปรรูปเพื่อส่งออกให้ได้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติ MMPA ด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนของสัตว์น้ำที่จับจากท้องทะเลไทย ผู้ประกอบการได้มีการสร้างความเข้าใจ พร้อมวางระบบการบริหารจัดการเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับให้ทราบถึงแหล่งที่มาด้วย ซึ่งการดำเนินการดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการแสดงถึงเจตจำนงค์ของประเทศไทยที่มุ่งมั่นในการอนุรักษ์ และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ