สธ.ชี้แนวโน้มโควิดโอมิครอนระบาดเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากตปท./พบติดเชื้อในปท.รายแรก

ข่าวทั่วไป Monday December 20, 2021 13:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สธ.ชี้แนวโน้มโควิดโอมิครอนระบาดเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากตปท./พบติดเชื้อในปท.รายแรก

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเร็วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยทุกรายยังมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไม่มี Index case ในประเทศไทย โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้วทั้งหมด 63 ราย ยืนยันด้วยวิธีจีโนม (Whole Genome Sequencing - WGS) แล้ว 20 ราย อย่างไรก็ดี การตรวจเบื้องต้นด้วยวิธี SNP (Single nucleotide polymorphisms) ค่อนข้างแม่นยำว่าเป็นเชื้อโอมิครอน ทั้งนี้ ล่าสุดเบื้องต้นพบโอมิครอนอีกประมาณ 20-30 ราย

สธ.ชี้แนวโน้มโควิดโอมิครอนระบาดเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากตปท./พบติดเชื้อในปท.รายแรก
"การตรวจ RT-PCR 72 ชม. ก่อนมา และตรวจ RT-PCR เพียงครั้งเดียว เมื่อมาถึงประเทศไทย ยังทำให้ผู้ป่วยหลุดไปได้ เนื่องจากอยู่ในระยะฟักตัว (Window Period) อาจพิจารณาปรับมาตรการ Test&Go" นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอน ขณะนี้พบการแพร่ระบาดแล้วทั้งหมด 89 ประเทศ และ 36 รัฐในประเทศอเมริกา โดยขณะนี้พบสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ BA.1 BA.2 และ BA.3 แต่จากภาพรวมสายพันธุ์หลักทั่วโลกยังเป็นโอมิครอนสายพันธุ์เดิม BA.1 ทั้งหมด 6,496 ราย อย่างไรก็ดี กรมวิทย์ฯ ยืนยันว่าการตรวจจับสายพันธุ์ยังทำได้ตามปกติ ทั้งแบบเบื้องต้น (Potentially) และแบบยืนยัน (Confirmed)

สธ.ชี้แนวโน้มโควิดโอมิครอนระบาดเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากตปท./พบติดเชื้อในปท.รายแรก

ด้านองค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของวัคซีน และเกิดภูมิคุ้มกันมากขึ้น สอดคล้องกับผลการวิจัยของฮ่องกง ที่ระบุว่า วัคซีนเข็มบูสเตอร์ จะช่วยทำให้ระดับแอนติบอดี้กลับมามีค่าสูงขึ้น ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็สามารถป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการรุนแรงจากการติดเชื้อได้

"ขณะนี้กรมวิทย์ฯ อยู่ระหว่างการเพาะเชื้อ ซึ่งเชื้อก็เริ่มขึ้นมาพอสมควร โดยจะนำมาทดลองในผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรต่างๆ ของบ้านเรา เป็นการทดลองเชื้อโอมิครอนเป็นๆ ว่าสามารถป้องกันเชื้อได้มากน้อยเท่าไร คาดว่าช่วงปีใหม่น่าจะได้ผลการเทส" นพ.ศุภกิจ กล่าว
สธ.ชี้แนวโน้มโควิดโอมิครอนระบาดเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากตปท./พบติดเชื้อในปท.รายแรก

สำหรับการตรวจจำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังระหว่างวันที่ 11-19 ธ.ค. 64 ทั้งหมด 1,595 ตัวอย่าง พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลตา 1,541 ราย คิดเป็น 96.61% เป็นสายพันธุ์อัลฟา 1 ราย คิดเป็น 0.06% เป็นสายพันธุ์เบตา 1 ราย คิดเป็น 0.06% และเป็นสายพันธุ์โอมิครอน 52 ราย คิดเป็น 3.26% ซึ่งสัดส่วนโอมิครอนเพิ่มขึ้นจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ 1% โดยจากการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (Test&Go, Sandbox, AQ) พบติดเชื้อเป็นสายพันธุ์โอมิครอนถึง 1 ใน 4 หรือประมาณ 25%

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกว่า แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งสามารถแพร่โรคได้เร็ว มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ที่เคยฉีดวัคซีนนานกว่า 6 เดือนแล้ว

สำหรับประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรายแรกในประเทศ ซึ่งติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน จากสายพันธุ์โอมิครอนภายในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน พบสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางเข้าประเทศ ในรูปแบบ Test & Go เพิ่มขึ้น 2 เท่า เทียบระหว่างเดือนพ.ย. และธ.ค. รวมทั้งตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสธ. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) พิจารณาชะลอการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go สำหรับผู้เดินทางมาจากทุกประเทศ และพิจารณาปรับใช้มาตรการกักตัวในระบบ AQ หรือ Sandbox นาน 7-10 วันแทน

สำหรับผู้ติดเชื้อโอมิครอนในประเทศ เป็นภรรยาของผู้ป่วยชาวโคลัมเบีย อาชีพนักบิน ติดเชื้อโอมิครอน และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 1 ราย คือ คนขับรถแท๊กซี่ ซึ่งผลการตรวจหาเชื้อครั้งแรกเป็นลบ และจะมีการตรวจอีกครั้งเมื่อกักตัวครบ 14 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค. และมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ 89 ราย ติดตามอาการครบ 14 วัน ยังไม่พบผู้มีอาการป่วย

นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ของผู้ที่เดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนา ประเทศซาอุดิอาระเบีย พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย จากทั้งหมด 133 ราย โดย 1 รายพบเชื้อโอมิครอน ในขณะเดียวกันมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 4 ราย และผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำอีก 126 ราย อยู่ระหว่างติดตามอาการจนครบ 14 วัน ในวันที่ 27 ธ.ค. 64 โดยผลการตรวจ RT-PCR ครั้งแรกผลเป็นลบทั้งหมด

ในขณะเดียวกันมีคลัสเตอร์จากผู้ที่เดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนา ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเดินทางเข้าประเทศคนละวันกับคลัสเตอร์ก่อนหน้านี้ โดยพบผู้ติดเชื้อที่สงสัยว่าเป็นโอมิครอน 18 ราย จากทั้งหมด 31 ราย ในขณะเดียวกันมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง 15 ราย ทั้งนี้ มีการดำเนินการ

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อลดการระบาดของโรค และชะลอการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ ขอความร่วมมือทุกคน และทุกภาคส่วน ร่วมด้วยช่วยกันป้องกัน ดูแลตนเอง โดยให้คำแนะนำ ดังนี้

1. ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ให้ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยด่วน รวมทั้งการฉีดบูสเตอร์ตามเกณฑ์

2. คนไทยที่มีแผนเดินทางไปต่างประเทศ ช่วงนี้ขอให้ชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ หากจำเป็นต้องเดินทาง ให้ป้องกันตนเองขณะเดินทาง และขณะพำนักในต่างประเทศ อย่างเคร่งครัด เน้นปฏิบัติตนตามมาตรการ Universal Prevention

3. คนไทยเดินทางมาจากต่างประเทศและกักตัวที่บ้าน ให้รีบไปโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง และกักตัวจนครบ 14 วัน

4. สถานประกอบการ หน่วยงาน ที่จะจัดงานรื่นเริงช่วงปีใหม่ ให้ดำนินการตามแนวทาง Covid Free Setting และตรวจหาเชื้ออีกครั้งด้วย Antigen Test Kit (ATK) ก่อนกลับมาทำงานหลังปีใหม่ รวมทั้งเฝ้าระวัง พนักงานทุกคนที่เดินทางไปต่างจังหวัดด้วย

5. แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ หากพบสถานบริการ สถานประกอบการ ร้านอาหารที่ให้ดื่มสุราภายในร้าน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ Covid-Free Setting

นอกจากนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้บริการประชาชน รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK รวมทั้งให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ และเพิ่มจุดให้บริการ ณ สถานีขนส่ง ในจังหวัดที่มีผู้เดินทางจำนวนมากด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ