(เพิ่มเติม) สธ.เผยยอดผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอนสะสมในประเทศพุ่งเป็น 740 ราย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 29, 2021 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการจำแนกสายพันธุ์เฝ้าระวัง ตั้งแต่เปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 64 พบติดเชื้อโอมิครอนสะสมจำนวน 740 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 489 ราย ติดเชื้อในประเทศ 251 ราย หรือพบโอมิครอนในสัดส่วนประมาณ 8-9% สำหรับการตรวจหาโอมิครอนด้วยวิธี SNP (Single nucleotide polymorphisms) อยู่ที่ 740 ราย ยืนยันด้วย WGS (Whole Genome Sequencing ) แล้ว 104 ราย ทั้งนี้ การตรวจด้วย SNP ก่อนหน้านี้ให้ผลแม่นยำ 100% ไม่ผิดพลาดว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน

สำหรับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ขณะนี้พบการแพร่ระบาดใน 33 จังหวัด ซึ่งมาจากทุกเขต ยกเว้นเขต 2 ที่ยังไม่พบ ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก โดยในภาพรวมพบโอมิครอนเยอะสุดใน เขต 13 กทม. มาจากการตรวจหาเชื้อของกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งต้องกักตัวในพื้นที่กทม. รองลงมาเป็นเขต 7 ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และเริ่มพบในเขต 11 เพิ่มขึ้น ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อโอมิครอนจากการติดเชื้อในประเทศมาจาก 19 จังหวัด โดยพบสูงสุดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 119 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อในประเทศทั้งหมด ยังมีความเชื่อมโยงจากผู้ที่ติดเชื้อจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยวันที่ 27-28 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตรวจพบโอมิครอนประมาณ 200 กว่าราย จากภาพรวมที่ 5,000 ราย คิดเป็น 5-6% ซึ่งสายพันธุ์เดลตายังคงเป็นสายพันธุ์หลักที่พบในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อดูการติดเชื้อใน 2 วัน ภาพรวมติดเชื้อโอมิครอนอยู่ที่ 66.5% ส่วนกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศพบโอมิครอนอยู่ที่ 74.7% ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีการเฝ้าระวังต่อไป

นพ.ศุภกิจ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าหน้ากากผ้าใช้ป้องกันโอมิครอนไม่ได้ว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเดลตาไม่ได้แตกต่างจากโอมิครอน ดังนั้น หากหน้ากากผ้ามีคุณสมบัติที่ดี เช่น ผ้ามัสลิน หรือมีจำนวนชั้นที่เหมาะสม ก็ยังสามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธี

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกว่า พบผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะประเทศในยุโรป และสหรัฐ ทั้งนี้ แนวโน้มการเสียชีวิตจากโอมิครอนของทั่วโลกเริ่มลดลงอยู่ที่ 1.92% จาก 2% กว่า เนื่องจากการแพร่รระบาดของโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ประกอบกับเริ่มมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น

ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อยืนยัน ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้เสียชีวิตลดลง ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Test&Go ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐ และแอฟริกา เข้ารับการรักษาที่ กทม. ภูเก็ต ชลบุรี อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนมาตรการต่างๆ คาดว่าช่วงหลังปีใหม่น่าจะมีมาตรการเสริมออกมา

นพ.โอภาส ได้กล่าวถึงกรณีตัวอย่าง คลัสเตอร์สองสามีภรรยาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ พบติดเชื้อทั้งหมด 248 ราย โดยจุดที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่ระบาด คือ ในบาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ปิด ไม่มีระบบระบายอากาศ ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดสูงมาก เช่นเดียวกับกับคลัสเตอร์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย กทม. พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 52 ราย จากการใช้บริการในร้านอาหารกึ่งผับ ที่ไม่มีการระบายอากาศ ซึ่งมีการตรวจพบเชื้อบริเวณเครื่องปรับอากาศด้วย

จากตัวอย่างคลัสเตอร์ดังกล่าว จึงแจ้งระดับเตือนภัยจากโรคโควิด-19 ในระดับ 3 โดยขอความร่วมมือจากสถานประกอบการ และประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเคร่งครัด ประกอบการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเว้นระยะห่างตามมาตรการ Universal Prevention (UP)

นอกจากนี้ ควรตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่โรค โดยเฉพาะขณะโดยสารขนส่งสาธารณะ หรือขณะอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ควรงดใช้บริการ ในร้านอาหาร ที่เป็นห้องปรับอากาศ และมีระบบระบายอากาศไม่ดี และสังเกต สอบถาม ตรวจสอบการให้บริการ หากไม่เป็นไปตามมาตรการ Covid-Free Setting ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบ

"ช่วงนี้จะมีคนเดินทางค่อนข้างเยอะ ประชาชนสามารถชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อได้ โดยหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง ลดกิจกรรมเสี่ยงที่มีคนหนาแน่น และไม่สวมหน้ากาก ทั้งนี้ ให้ผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนมารับวัคซีน รวมทั้งเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันด้วย" นพ.โอภาส

นพ.โอภาส ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีการแพร่ระบาดได้มากขึ้น แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 มีการระบาดทั่วโลก และระบาดใหญ่ หลังจากผ่านไป 2 ปี และพบว่าโอกาสที่คนทั่วโลกจะร่วมกันกำจัดโรคให้หายไปทั้งหมดนั้น เป็นไปได้ยากมาก

อย่างไรก็ดี โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้น ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ เชื้อโรค คน และสิ่งแวดล้อม กรณีแรกเชื้อโรคจะต้องอยู่ร่วมกับคนได้ โดยที่โรคจะต้องมีความรุนแรงลดลง และกรณีที่สองคนต้องสามารถอยู่ร่วมกับเชื้อโรคได้ คือ ติดเชื้อแล้วไม่เสียชีวิต แต่ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ในระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ต้องอาศัยปัจจัยในการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการติดเชื้อที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้คนกับเชื้อโรคเริ่มปรับสมดุลเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้โรคโควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้

สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก ปริมาณวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี จะมีปริมาณน้อยกว่าผู้ใหญ่ 1 ใน 3 ซึ่งโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงก็จะลดลงตามไปด้วย โดยข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่า อัตราการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กเล็ก สามารถเกิดขึ้นได้น้อยกว่าเด็กโต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ