(เพิ่มเติม) ศบค.แจงผู้ติดเชื้อโอมิครอนเสียชีวิต 2 รายแรกในไทยเป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

ข่าวทั่วไป Monday January 17, 2022 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ศบค.แจงผู้ติดเชื้อโอมิครอนเสียชีวิต 2 รายแรกในไทยเป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 2 รายแรกของไทย เป็นเพศหญิงทั้งคู่ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว โดยมีรายหนึ่งที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็ม ส่วนอีกรายไม่ได้รับวัคซีน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์โอมิครอนทั้ง 2 ราย เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว โดยผู้เสียชีวิตรายแรกมีการฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแต่เข็มที่สองฉีดระยะเวลาเกิน 4 เดือน ส่วนรายที่ 2 ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน

(เพิ่มเติม) ศบค.แจงผู้ติดเชื้อโอมิครอนเสียชีวิต 2 รายแรกในไทยเป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

สำหรับสิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยร่วม คือ มีการสอบสวนโรคมีการสัมผัสใกล้ชิดจากญาติและบุคคลในครอบครัวที่ถือได้ว่าเป็นผู้เสี่ยง โดยทั้ง 2 รายในประวัติเป็นผู้ที่อยู่บ้านติดเตียง ไม่ได้เดินทางไปในที่ชุมชนหรือพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำ คือ การดูแลผู้สูงอายุต้องเว้นระยะห่าง สวมถุงมือและหน้ากากอนามัยด้วย

โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ผู้เสียชีวิตรายที่ 1 เป็นหญิง อายุ 86 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เสียชีวิตในวันที่ 12 ม.ค.และมีโรคประจำตัวเป็นผู้ป่วยติดเตียงและมีโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์

วันที่ 6 ม.ค.เริ่มมีการแสดงอาการไข้ และมีเสมหะ ซึ่งบุตรสาวมีประวัติรายงานเป็นผู้ติดเชื้อและมีการสัมผัสใกล้ชิดกับหลานชาย ซึ่งเดินทางกลับจากจังหวัดภูเก็ตนั้น จากนั้นญาติได้ตรวจ ATK ผลเป็นบวก และจากนั้นนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ทันที

วันที่ 7 ม.ค. ซึ่งโรงพยาบาลตรวจยืนยันด้วยวิธี RR-PCR พบผลเป็นบวกและอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว มีไข้สูง 38.5 องศา ปอดอักเสบและมีของเหลวในปอด และคนไข้มีอาการไอและหายใจลำบาก ซึ่งทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่และใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้การรักษาในหอป่วยวิกฤติ ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 12 ม.ค.

  • ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 84 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี มีโรคประจำตัวคือ มะเร็งที่ปอดระยะสุดท้าย เสียชีวิตในวันที่ 15 ม.ค. โดยในระยะแรกที่ติดเชื้อไม่ปรากฎอาการชัดเจนแต่มีประวัติ คือ บุตรชายมีอาการติดเชื้อโควิด ครอบครัวจึงตรวจหาเชื้อในวันที่ 9 ม.ค.ด้วยวิธี RT-PCR ผลตรวจเป็นบวกยืนยันติดเชื้อ

วันที่ 10 ม.ค.ทางครอบครัวได้ประสานโรงพยาบาลเสนอให้มีการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยและญาติประสงค์ขอรับการรักษาที่บ้าน มีการให้ยารักษา

วันที่ 11-12 ม.ค.มีรายงานว่าผู้ป่วยไม่มีไข้ ไม่มีอาการเหนื่อย ไม่มีอาการหอบ ออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ในระดับที่ 86-90% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ใช้ได้

วันที่ 13-14 ม.ค.ญาติรายงานว่าผู้ป่วยเริ่มรับประทานอาหารได้น้อยลง ตรวจออกซิเจนปลายนิ้วเริ่มลดลงแต่ไม่มีอาการไข้

วันที่ 15 ม.ค.ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเหนื่อย หายใจหอบมากขึ้น ตรวจออกซิเจนที่ปลายนิ้วลดลงเหลือ 76% ซึ่งโรงพยาบาลแนะนำให้ส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลังจากอาการเปลี่ยนแปลง แต่ญาติตัดสินใจขอไม่รับความช่วยเหลือ ในการใส่เครื่องช่วยหายใจจนกระทั่งผู้ป่วยเสียชีวิต

พญ.อภิสมัย กล่าวถึงคำแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ขอให้แยกพื้นที่จากผู้อื่น เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร หมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ หากกรณีมีผู้ดูแล ขอให้ใช้ผู้ดูแลเพียงคนเดียว โดยควรเป็นคนที่อยู่ติดบ้าน ติดต่อคนภายนอกน้อยที่สุด สวมหน้ากากอนามัย ถุงมือทุกครั้งที่พยาบาลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย สำหรับผู้สูงอายุที่หายใจลำบาก หรือช่วยตนเองไม่ได้ ไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยให้


แท็ก ศบค.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ