รมว.สธ. ปัดยกเลิกสิทธิ UCEP รักษาผู้ป่วยโควิด ยันรัฐพร้อมจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิ

ข่าวทั่วไป Monday February 14, 2022 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากภาวะฉุกเฉินวิกฤติรักษาทุกที่ (UCEP) ว่า ไม่ใช่การยกเลิก แต่ต้องทำให้โรคโควิด-19 เป็นโรคปกติไม่ใช่โรคฉุกเฉิน ถึงแม้จะมีผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักก็ยังสามารถเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในสถานพยาบาลทุกที่ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือสามารถใช้สิทธิบัตรทองที่สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล

"ดังนั้น การที่มีคนไปแปลงคำพูดว่า จะมีการยกเลิก UCEP ไม่จ่าย ไม่ดูแลนั้น ยืนยันไม่ใช่อย่างแน่นอน ภาครัฐยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลในแนวทางตามสิทธิที่ทุกคนมีอยู่" นายอนุทิน กล่าว

หากมีการเข้ารับการรักษาพยาบาลในสิทธิของประกัน ประชาชนจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างด้วยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉิน ภาครัฐจะดูแล 3 วัน (72 ชั่วโมง) จากนั้นจะต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งก็มีศักยภาพเตียงที่เพียงพอ

ส่วนกรณีที่ฝ่ายการเมืองนำเรื่อง UCEP มาเป็นประเด็น และทำให้เกิดความเข้าใจว่ารัฐบาลจะยกเลิกการรักษาโควิด-19 ในระบบ UCEP ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเพิ่มสูงขึ้นนั้น นายอนุทิน กล่าวย้ำว่า ได้อธิบายไปแล้วว่าไม่ยกเลิกสิทธิ UCEP แต่ต้องปรับให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยต้องให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน เหมือนกับโรคทั่วไป หากไปใช้โรงพยาบาลเอกชน และยินดีจะจ่ายเงินส่วนต่างก็ถือว่าเป็นสิทธิของประชาชนอยู่แล้ว

แต่หากกังวลว่าประกันชีวิตแบบสุขภาพจะไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาล ทางกรมการแพทย์ สปสช. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลของประชาชนก็ต้องออกหลักเกณฑ์ให้มีการดูแลประชาชน บริษัทประกันจะเอาเปรียบผู้ซื้อประกันไม่ได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย และภาครัฐจะไม่ยอมให้เกิดการเลี่ยงบาลี หากมีการขายและมีนโยบายออกไปแล้ว ประกันภัยก็ต้องรับผิดชอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ