ดุสิตโพล เผยคนมองพิษศก.กระทบเสถียรภาพรัฐบาล หวังครม.ใหม่ช่วยให้ดีขึ้น

ข่าวทั่วไป Sunday February 20, 2022 10:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดุสิตโพล เผยคนมองพิษศก.กระทบเสถียรภาพรัฐบาล หวังครม.ใหม่ช่วยให้ดีขึ้น

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คนไทยกับพิษเศรษฐกิจ" โดยเมื่อถามว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรบ้าง อันดับ 1 ตอบว่า ต้องประหยัดและวางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น อันดับ 2 ตอบว่า สินค้าแพงขึ้น ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น อันดับ 3 ตอบว่า รายได้ลดลง ขายของได้น้อยลง ไม่มีลูกค้า

เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่ามาตรการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ ช่วยลดภาระได้หรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 63.21% ระบุว่า ช่วยได้บ้าง รองลงมา 22.83% ระบุว่าช่วยได้มาก ส่วนอีก 13.96% ระบุว่าไม่ช่วยเลย

เมื่อถามว่าวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ประชาชนมีความเครียดในระดับใด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 65.23% ตอบว่าเครียดมาก รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 24.58% ตอบว่าเครียดปานกลาง ส่วนอีก 8.87% ตอบว่าเครียดน้อย โดยมีเพียง 1.32% ตอบว่าไม่เครียดเลย

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน คือ อันดับ 1 ตอบว่า ควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ อันดับ 2 ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ อันดับ 3 ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว อันดับ 4 ควบคุมโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุด และ อันดับ 5 ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อถามประชาชนว่าวิกฤติเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลอย่างไร อันดับ 1 ตอบว่า รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ อาจยุบสภา อันดับ 2 ประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐบาล อันดับ 3 ต่างชาติไม่กล้าลงทุน นักธุรกิจไม่เชื่อมั่น อันดับ 4 เกิดกระแสต่อต้าน เป็นประเด็นสำคัญทำให้โดนโจมตี อันดับ 5 กู้เงินเพิ่มจำนวนมหาศาล ใช้งบประมาณจำนวนมาก

ทั้งนี้ ประชาชนคิดอย่างไรกับกระแสข่าวที่ว่าอาจจะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ก่อนครบเทอมรัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 59.88% ตอบว่าน่าจะเป็นไปได้ รองลงมา 33.45% ตอบว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และอีก 6.67% ตอบว่าเป็นไปไม่ได้

และเมื่อถามว่าหากได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 52.19% ตอบว่าน่าจะดีขึ้น ส่วนอีก 40.79% ตอบว่าน่าจะเหมือนเดิม และมีเพียง 7.02% ตอบว่าน่าจะแย่ลง

อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,148 คน (สำรวจทางออนไลน์) ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 14-17 กุมภาพันธ์ 2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ