ปลัด สธ.เตือนนักท่องเที่ยวที่ชอบเดินป่าให้ป้องกันเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่

ข่าวทั่วไป Sunday December 2, 2007 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินป่ากางเต๊นท์นอนท้าลมหนาวให้ระวังถูกตัวไรอ่อนกัดในร่มผ้าซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้รากสาดใหญ่ที่มีอันตรายถึงชีวิต โดยแนะนำให้สังเกตุอาการหลังกลับจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ หากพบอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ทันที
"ประชาชนที่ชอบเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น สูดอากาศและชมความงามธรรมชาติกันมากขึ้น เรื่องที่จะต้องเตือนกันแต่เนิ่นๆ ก็คือการระมัดระวังตัวไรอ่อนกัด ซึ่งมักเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และทำให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่" น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
โดยไรอ่อนดังกล่าวโดยไร่อ่อนมักจะเข้าไปกัดบริเวณร่มผ้า เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัวบริเวณใต้ราวนม รักแร้ และบริเวณคอ แล้วปล่อยเชื้อริกเก็ตเซีย โรคสครับไทฟัส มีระยะฟักตัวประมาณ 6-21 วัน แต่โดยทั่วไปประมาณ 10-12 วัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่สำคัญ ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงบริเวณขมับและหน้าผาก ตัวร้อนจัดมีไข้สูง 40-40.5 องศาเซลเซียส หนาวสั่น เพลีย ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา มีอาการไอแห้งๆ ไต ตับ ม้ามโต และผู้ป่วย 30-40% จะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้บริเวณที่ถูกไรอ่อนกัด มีสีแดงคล้ำเป็นรอยบุ๋ม ไม่คัน และผู้ป่วยราว 20-50% อาจจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ การอักเสบที่ปอด สมอง ในรายที่อาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วมาก ความดันโลหิตต่ำ อาจถึงขั้นช็อคเสียชีวิตได้
สำหรับพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโรคสครับไทฟัสมากที่สุดคือภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันอกเฉียงเหนือ บริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ได้แก่ บริเวณป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่ หรือตั้งรกรากใหม่ หรือพื้นที่ทุ่งหญ้าชายป่า หรือบริเวณมีต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง
"ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนที่จะไปท่องเที่ยว ตั้งแค้มป์ไฟ กางเต๊นท์นอนในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก ควรใส่รองเท้า ถุงเท้า ที่หุ้มปลายขากางเกงไว้ และเหน็บชายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ ใช้ยาทากันแมลงกัดตามแขนขา หลังออกจากป่าให้อาบน้ำให้สะอาด พร้อมนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้" น.พ.ปราชญ์ กล่าว
โดยในปีนี้(ม.ค.-ก.ย.) ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าวแล้ว 2,449 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคเหนือ 1,313 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นจังหวัดที่มีป่าเขา รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 549 ราย ภาคใต้ 438 ราย และภาคกลาง 149 ราย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ