รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ข่าวทั่วไป Saturday June 25, 2022 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทยอย่างมาก เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและสอดรับกับการพัฒนาของโลกที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยรัฐบาลได้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอาเซียนที่พร้อมเปิดประตูสู่โอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทำให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วขึ้นมาก

โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเทอร์เน็ตบ้านของไทย ที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที (Mbps) ถือว่าแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก รวมทั้งยังได้เร่งขับเคลื่อนโครงการเน็ตหมู่บ้าน 74,987 หมู่บ้าน ทั้งประเทศเข้าถึงบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป็นโครงการที่ได้รับรางวัล The Winner ในงาน World Summit on the Information Society (WSIS) Prizes 2019 ซึ่งจัดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำที่ดำเนินการอยู่ จะช่วยเสริมบทบาทของไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศเชื่อมต่อจีน-อินเดีย-อาเซียน มีประชากรรวมกันกว่า 3,300 ล้านคน หรือเกือบครึ่งโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ โดยได้บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ พัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการภาคเอกชนและประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ และเข้าถึงง่าย ซึ่งได้ทำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และปรับตัวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการพัฒนาระบบพร้อมเพย์เพื่อสนับสนุนการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที (ปี 2558) ยกระดับระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สำหรับการออกใบอนุญาต (ปี 2559) พัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ (ปี 2563) และการดำเนินโครงการหนึ่งรหัสหนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID) เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เข้าถึงการดูแลของภาครัฐโดยใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน

ล่าสุดโครงการหนึ่งรหัสหนึ่งผู้ประกอบการที่เป็นความร่วมมือของ 16 หน่วยงาน ณ เดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้ประกอบการ MSME ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ จากหน่วยงานพันธมิตรแล้วรวม 2,045 ราย ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรีที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่บนโลกออนไลน์ เป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการผลิต การขนส่ง การขาย และการบริการ เพื่อให้ประชาชนมีการพัฒนาตนเองต่อเนื่อง ปรับตัวให้สอดคล้องทิศทางการพัฒนาประเทศ ตลอดจนทันต่อเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ