นายกฯ ดันแนวคิดทหารร่วมทุนเอกชนพัฒนาศก.พื้นที่พิเศษ 3 จ.ชายแดนใต้

ข่าวทั่วไป Friday March 21, 2008 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเขตพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดภาคใต้วันนี้ เห็นชอบต่อแนวทางที่จะให้ทหารเข้าไปมีส่วนช่วยภาคเอกชนในการลงทุนด้านต่างๆ โดยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน แต่ทหารเป็นฝ่ายดำเนินการ โดยยกตัวอย่างเช่น งานก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เอกชนได้รับสัมปทานแล้วแต่ยังไม่กล้าจะเข้าไปดำเนินการก่อสร้าง 
ดังนั้นอาจขอความร่วมมือจากทหารช่างให้เข้าไปช่วยดำเนินการ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการหารือระหว่างภาคเอกชนกับฝ่ายทหารเพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการร่วมกันต่อไป
พร้อมกันนี้ที่ประชุม ยังเห็นชอบต่อแนวทางที่จะให้ จ.สตูล และ จ.สงขลา เข้ามามีส่วนช่วยในการร่วมกันพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รัฐบาลยืนยันว่าไม่มีแนวคิดที่จะเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะไม่ต้องการจะยกระดับสถานะของกลุ่มดังกล่าวให้เป็นระดับสากล ส่วนแนวทางของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ที่จะไปเจรจากับใครนั้นถือเป็นคนละประเด็น
"คุณเฉลิม จะพูดจากับใคร มันคนละประเด็น จะพูดจาอย่างไรก็ได้ แต่ไม่ใช่รัฐบาลจะไปยกสถานะของพวกเขา เพราะเขาต้องการเป็นอินเตอร์ ซึ่งเมื่อผมไปเยือนประเทศต่างๆ เขาก็บอกว่าเป็นเรื่องภายในของเรา" นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายสมัคร กล่าวด้วยว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ยืนยันว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภาคใต้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีจะมีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจคอยประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิ
พร้อมยืนยันว่า จากนี้ไปจะไม่ให้สัมภาษณ์หรือตอบกระทู้ที่สภาฯ ถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะจัดทำเป็นรายงานสรุปการดำเนินการและนำเสนอต่อสภาฯ ให้ทราบความคืบหน้าเป็นระยะ ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรับรู้ความเคลื่อนไหวหรือยุทธศาสตร์ใดๆ ของทางการ
ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดภาคใต้ ว่า สำหรับข้อเสนอของนายกฯ ที่จะให้เอกชนเข้าร่วมทุนกับทหารเพื่อเข้าไปดำเนินการต่างๆในภาคใต้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ภาคเอกชนคงต้องไปหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรเพราะการเข้าร่วมทุนนั้นหากเป็นในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจหรือส่วนราชการ อาจทำให้เกิดความไม่คล่องตัว
อย่างไรก็ตามปัญหาในภาคใต้นั้นมีทั้งเรื่องที่มาจากความไม่สงบโดยตรงและมาจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากปัญหาราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมากและปัญหาอินโดนีเซียปิดน่านน้ำ ทำให้การหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานปลาป่นนั้นมีน้อยมาก ซึ่งนายกฯได้รับปากที่จะนำปัญหานี้ไปเจรจากับอินโดนีเซียเพื่อขอให้เปิดน่านน้ำให้กับไทย ส่วนปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลที่ปรับลดเหลือ 3% แต่ภาคเอกชนยังต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคลครึ่งปีเต็มจำนวนนั้น ทางกระทรวงการคลังได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่ากรมสรรพากรได้คืนภาษีทั้งหมดให้ผู้ประกอบการแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ