ผู้ว่าฯ กทม. หารือ รฟท. ฟื้นตลาดนัดจตุจักร ตั้งเป้าเป็นตลาดระดับโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday July 6, 2022 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า กทม. และ รฟท. ได้มีความร่วมมือกันหลายเรื่อง เรื่องแรก คือ ตลาดนัดจตุจักร ซึ่ง กทม.ยังเป็นผู้บริหารตลาด แต่ยังมีสัญญาที่ต้องจัดการร่วมกับ รฟท. รวมถึงการวางแผนในอนาคตที่จะทำให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดระดับโลก ซึ่งจะมีคณะกรรมการตลาดชุดใหม่หารือร่วมกับ รฟท. อย่างใกล้ชิด โดยสัญญา กทม.เหลืออีก 6 ปีสุดท้าย จากนั้น รฟท. จะเป็นผู้ดูแลตลาดนัดจตุจักรต่อหรือไม่ จะต้องหารือกันต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง

เรื่องที่ 2 ถนนริมทางรถไฟ อาทิ ถนนกำแพงเพชร ที่ผ่านมาประชาชนมีข้อร้องเรียนสภาพถนนเป็นคลื่น เป็นหลุมบ่อ ซึ่งมีบางส่วนที่ รฟท.ดูแล และบางส่วน กทม.ดูแล ก็จะประสานงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น

เรื่องที่ 3 คือ เรื่องที่ดิน โดยมีทั้งหมด 3 ประเด็นที่หารือกับ รฟท. ดังนี้

1. การปลูกต้นไม้ โดย กทม.มีโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่ง รฟท.น่าจะมีพื้นที่ให้ปลูกได้ โดยเฉพาะตามเส้นทางรถไฟ อาจจะไม่ใช้พื้นที่มาก แต่ปลูกเป็นแนวกันชุมชนกับทางรถไฟให้เกิดร่มเงาสวยงาม ในระยะทางไกล ทั้งสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ หรือพื้นที่ รฟท. ที่กิโลเมตร 11 ก็สามารถปลูกได้ ซึ่งผู้ว่าฯ รฟท. แจ้งว่าจะเริ่มปลูก 2,000 ต้น โดยจะทำต่อเนื่องในพื้นที่ที่ รฟท. ปลูกต้นไม้อยู่แล้ว

2. เรื่องหาพื้นที่ค้าขายให้ประชาชนกลุ่มหาบเร่แผงลอย โดยมีแนวคิดทำตลาดเล็กๆ ที่นำหาบเร่แผงลอยเข้ามา ให้ประชาชนทำมาหากินได้ในราคาไม่แพง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่ง รฟท.ได้ทำไว้แล้วบริเวณคลองตัน จะพยายามหาความร่วมมือขยายผลต่อไป

3. เรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อาจต้องมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง ทั้งการเคหะแห่งชาติ, รฟท. และ กทม. มีแนวคิดหาพื้นที่ให้ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน โดยจัดหาพื้นที่ทำอาคารเช่า และสามารถทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเมือง เดินทางไม่ไกล ก็จะช่วยเรื่องปัญหาจราจร และช่วยค่าครองชีพของคนรุ่นใหม่ โดยให้เช่าแบบกำหนดระยะเวลา ซึ่งจะหารือกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องของการบริหารจัดการสวนสาธารณะ เช่น สวนรถไฟ ซึ่ง กทม. เป็นผู้บริหารจัดการ ขณะที่ รฟท. ดูแลโครงสร้างพื้นฐาน มีบางส่วนที่ กทม. ต้องปรับปรุง เช่น ทางจักรยาน ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานชุดย่อยในแต่ละเรื่อง ประสานงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สำหรับเรื่องหนี้กับ รฟท.นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เพราะเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ สามารถตกลงกันได้ แค่ทำให้ถูกต้องตามสัญญา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ