รายได้ รพ.เอกชนปี 65 โตต่อเนื่องตอบรับเปิดประเทศ ส่งสัญญาณปี 66 บวกต่อ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 30, 2022 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายได้ รพ.เอกชนปี 65 โตต่อเนื่องตอบรับเปิดประเทศ ส่งสัญญาณปี 66 บวกต่อ

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) มองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตได้เร็ว หลังจากเจอวิกฤติที่กระทบรายได้ ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลายลง ประเมินว่าธุรกิจจะกลับมาเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว โดยภาพรวมธุรกิจในปี 65 คาดว่าธุรกิจจะขยายตัวต่อเนื่อง 42.5%YoY หลังจากในปี 64 ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้ 32.3%YoY

ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากปัจจัยชั่วคราว จากการรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และความต้องการรักษาโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่มาใช้บริการในปี 65 ยังเป็นกลุ่มคนไข้ชาวไทย ซึ่งกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพ นับว่ามีศักยภาพที่จะช่วยหนุนรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน

ขณะเดียวกัน ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 และการเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง 65 ส่งผลดีต่อรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติสูง อย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) สมิติเวช (SVH) และกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS)

Krungthai COMPASS ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยในปี 65 อยู่ที่ราว 8.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้ในช่วงครึ่งแรกของปี และในจำนวนนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนของกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่ต้องการเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ

สำหรับปี 66 คาดว่าสถานการณ์การเดินทางระหว่างประเทศจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศสะดวกขึ้น ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสามารถขยายตัวต่อเนื่อง 19.8%YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวที่เด่นชัดขึ้นของ Medical Tourism

ทั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไข้ชาวต่างชาติ จากอาเซียน จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาล และค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งมีมาตรฐานและบริการที่ดี ซึ่งประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน โรงพยาบาลระดับสากล (Joint Commission International: JCI) มากถึง 59 แห่ง

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนสำคัญตามโครงสร้างพื้นฐานเดิมยังส่งผลอยู่ คือ ความต้องการการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนไข้ และอัตราการเจ็บป่วยที่สูงขึ้น ทั้งจากวิถีการดำเนินชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค สังคมผู้สูงอายุ และการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ที่รุนแรงขึ้น

Krungthai COMPASS ระบุว่า ลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพ ยังเป็นเป้าหมายสำคัญที่ช่วยหนุนรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง และแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยจากข้อมูลโครงสร้างการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคนไข้โรงพยาบาลเอกชนจาก Fitch Solutions พบว่า คนไข้ที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองมีสัดส่วนมากที่สุด รองลงมา เป็นลูกค้ากลุ่มประกันสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของกลุ่มโรงพยาบาลในเครือ BDMS ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด

ดังนั้น ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ขณะที่กำลังซื้อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาช่วยหนุนรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน หลังจากที่ปัจจัยชั่วคราวจากการรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และรายได้จากวัคซีนทางเลือกทยอยหมดลง ซึ่งการขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้ต้องมีการวางกลยุทธ์ และสร้างความร่วมมือกับบริษัทประกันฯ เพื่อออกแบบกรมธรรม์และเพิ่ม Privilege ในการใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นๆ

ขณะที่คนไทยกังวลเรื่องสุขภาพ สนใจซื้อประกันสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน จากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องของการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาโรคมากขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาระค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการซื้อประกันสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งต้องการความสะดวกสบายจากการใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลาง

สอดคล้องกับรายงานการศึกษา เรื่อง ประมาณการค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพในอีก 15 ปีข้างหน้า ของ TDRI ที่พบว่า อัตราการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าแปรผกผันกับรายได้ นั่นคือ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นอัตราการใช้สิทธิจะลดลง และยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อไปโรงพยาบาลเอกชน หรือซื้อประกันสุขภาพ เพราะต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบเบี้ยประกันสุขภาพรวมระหว่างช่วงครึ่งปีแรก 62 (ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19) กับครึ่งปีแรก 65 พบว่า ครึ่งปีแรก 65 มีมูลค่าเบี้ยประกันสุขภาพรวมมากกว่าครึ่งปีแรก 62 ถึง 1.3 เท่า อย่างไรก็ดี Krungthai COMPASS มองว่า การขยายตัวของประกันสุขภาพยังมี room to grow เนื่องจากเบี้ยประกันสุขภาพรวมต่อจำนวนประชากร ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยในปี 64 มีค่าประมาณ 1,691 บาทต่อคน

ขณะที่อานิสงส์ของการยกเลิก Thailand Pass เป็นแรงหนุนให้ Medical Tourism ทยอยฟื้นตัว โดยก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ลูกค้ากลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เป็นลูกค้าสำคัญที่สร้างรายได้ให้โรงพยาบาลเอกชนให้เติบโตต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดวิกฤติ ทำให้รายได้ส่วนนี้หดหายไปจากการงดเดินทางระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 และเริ่มเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีหลัง 65 โดยการยกเลิก Thailand Pass ทำให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในปี 65 ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในปี 66 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ สถานพยาบาลในไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล JCI 59 แห่ง มากกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ค่ารักษาพยาบาลไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งยังมีมาตรฐานและบริการที่ดี พร้อมด้วยชื่อเสียงในเรื่องการรักษาพยาบาลเฉพาะทาง เช่น ภาวะมีบุตรยาก เวชศาสตร์ชะลอวัย การผ่าตัดแปลงเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ ค่าครองชีพในไทยยังไม่สูงมาก เหมาะแก่การพำนักรักษาตัวและพักฟื้นร่างกายในระยะยาว

"จากการเปิดเผยข้อมูลของกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) พบว่า รายได้จากคนไข้ต่างชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และขยายตัวอย่างก้าวกระโดดมาตั้งแต่ไตรมาส 1/65 ดังนั้น คาดว่าการเปิดประเทศจะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ตลาด Medical Tourism ทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ" บทวิเคราะห์ ระบุ

Krungthai COMPASS ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 รายได้จากการดำเนินธุรกิจและกำไรสุทธิของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดฯ จำนวน 24 ราย ขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 125,499 ล้านบาท ขยายตัว 48.9%YoY ด้านกำไรสุทธิมีมูลค่า 24,226 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 173.8%YoY โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่มาใช้บริการเป็นคนไข้ชาวไทย และยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ส่งผลดีต่อรายได้ของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติสูงอย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่ม BDMS

อย่างไรก็ดี แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะมีศักยภาพในการเติบโต แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ Telemedicine หรือ Telehealth อาจเปลี่ยนสถานะจากผู้ช่วย กลายเป็นคู่แข่งธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) ได้เข้ามามีบทบาทด้านการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพเด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพทย์ทางไกลที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันในชื่อ Telemedicine หรือ Telehealth เดิมได้ถูกนำมาใช้เพื่อเสริมศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ในระยะถัดไปการแพทย์ทางไกลอาจจะถูกนำมาให้บริการในรูปแบบ Telehealth Kiosks ตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการ โดยหน่วยงานรัฐ หรือความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกลุ่ม Health Tech กับค่ายมือถือ คลินิกเวชกรรม ร้านขายยา ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่สามารถแทนที่โรงพยาบาลได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง

ด้านภาพรวมมูลค่าตลาดของ Telehealth Kiosks ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งจากผลการสำรวจของ Arizton Advisory & Intelligence ได้ประเมินมูลค่าตลาดโลกของ Telemedicine คาดว่า ในปี 70 มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.18 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 64 ที่มีมูลค่า 1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ยปีละ 19.0%

"Health Tech หรือ Digital Health อาจจะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญ ทั้งทางตรงและทางอ้อมของธุรกิจที่น่าจับตามอง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผนวกกับความคุ้นชินในการใช้เทคโนโลยีของผู้คน จะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมด้านสุขภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อ Health Tech ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนทำให้การรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเป็นเรื่องง่าย และต่อยอดจนเกิดประโยชน์ด้านสาธารณสุขในระยะยาว ที่จะช่วยลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลรัฐ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และส่งผลให้ความต้องการใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่าลดลงตามไปด้วย" บทวิเคราะห์ ระบุ

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำ Health Tech เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนการบริการที่ถูกลง รวมถึงการมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มาใช้ในการรักษา พยาบาลที่มีความซับซ้อนของโรค อาทิ การแพทย์แม่นยำหรือการแพทย์เฉพาะเจาะจง (Precision Medicine) การแพทย์เชิงฟื้นฟู (Regenerative Medicine) ที่เน้นการรักษาด้วยเซลล์ หรือยีนบำบัด รวมถึงการผลักดันให้แพทย์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างการเติบโตรายได้ให้โรงพยาบาลในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ