ผู้ว่าฯ กทม.เผยแผนป้องกันน้ำท่วมต้องดึงชุมชนมีส่วนร่วม-กระจายน้ำข้ามจังหวัด

ข่าวทั่วไป Saturday September 17, 2022 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมประชุมหารือกับ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม ทำให้ได้รับทราบว่าสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงมีความชัดเจนขึ้น ฝนที่เพิ่มขึ้นก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน สอดคล้องกับที่เคยแสดงความเห็นว่าช่วงเดือนที่ผ่านมาฝนตกเพิ่มขึ้น 150% ในช่วงต้นเดือน ก.ย.65 เป็นผลให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งแผนรองรับต้องคุยกันในรายละเอียดว่าจะปรับยุทธศาสตร์อย่างไร จะวางแผนโครงการอย่างไร ซึ่งนายเสรีได้ให้คำแนะนำในการวางแผนไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว

โดยระยะสั้น กทม.ต้องจัดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตเป็นผู้บัญชาการส่วนหน้า ซึ่งได้ทำอยู่แล้ว โดยมีสำนักการระบายน้ำเป็นตัวกำกับ จะเห็นภาพรวมของน้ำทั้งหมด การจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งปลัดฯ รองปลัดฯ และสำนักการระบายน้ำ โดยมี ผอ.เขตเป็นหน่วยส่วนหน้า การให้ชุมชนและประชาชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม อย่าให้เขารอให้เราเข้าไปแก้ปัญหาให้ ให้เอาเขามาเป็นส่วนร่วมในการชี้ปัญหาและเป็นคำตอบให้เราด้วย จริงๆ แล้วเรามีแนวร่วมอีกเป็นแสนเป็นล้านคนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เราแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้ลงพื้นที่ในหมู่บ้านหนึ่ง เขามีจุดที่น้ำรั่วเข้ามา ประชาชนเขาอยู่ในพื้นที่เขาชี้จุดได้เลย ไม่ต้องรอให้น้ำเข้ามาก่อน การลงพื้นที่ในหลายๆ แห่ง ประชาชนจะเป็นคนพาไปชี้เลยว่าตรงไหนจุดอ่อน เราอาจจะทำเป็นแนวร่วม หรือหน่วยอาสากู้น้ำท่วมในชุมชน กทม.อาจจะให้ทรัพยากรไปช่วย เช่น กระสอบทราย เมื่อถึงเวลาเขาก็อาจจะมาช่วยอุดช่วยอะไรได้ โดยที่เรายังไม่ทันเข้าไป โดยดำเนินการบรรเทาไปก่อน เป็นการยับยั้งวิกฤติไปก่อน รวมถึงการให้ข้อมูลน้ำข้อมูลปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปพัฒนากันต่อ

ส่วนระยะยาวจะเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมชลประทาน จังหวัดต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าดูจากแผนการระบายน้ำของ กทม.ที่ผ่านมา เราจะระบายน้ำไปในพื้นที่ของเราเอง จากคลองแสนแสบมาที่ประตูระบายน้ำพระโขนง คลองลาดพร้าวมาออกประตูระบายน้ำบางซื่อ ก็อยู่ในพื้นที่ กทม.ทั้งหมด ลาดกระบังมาออกประเวศ ทำให้ทุกอย่างมันไหลมาอยู่ที่ตรงกลางทั้งหมด แต่ในอนาคตไม่ได้แล้ว ยิ่งน้ำทางตอนเหนือมาต้องผ่านทางจังหวัดอื่นต้องดูน้ำในภาพรวม

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จริงๆ แล้ว แต่ละจังหวัดต้องพูดคุยกัน โดยมีกรมชลประทานเป็นตัวเชื่อมประสาน ถ้าแต่ละจังหวัดระบายน้ำเองไม่ได้แน่ ต้องมีการหารือกันซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ กทม.ต้องเป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับปริมณฑล ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว เรื่องฝุ่น PM2.5 ก็คล้ายๆกัน ฝุ่นก็ลอยข้ามไปข้ามมา เรื่องมลพิษ เรื่องการจราจร เรื่องที่อยู่อาศัยต่างๆ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นแนวทางที่จะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในอนาคต

"แผนบริหารจัดน้ำก็มีการวางรากฐานมานาน ผู้ว่าฯ หลายท่านที่ผ่านมาก็ได้วางสิ่งดีๆ เอาไว้ ก็นำมาปรับปรุงบ้างหรือว่าเพิ่มเติมเข้าไป เป็นสิ่งที่ทำกันมานาน โครงสร้างพื้นฐานไม่ได้เพิ่งทำ ทำมาหลายผู้ว่าฯ แล้ว ทำต่อเนื่องกันมา อุโมงค์ระบายน้ำก็เป็นผลงานของหลายผู้ว่าฯ ถือว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เอาแผนมาปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น" นายชัชชาติ กล่าว

ด้านนายเสรี กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯ กทม.ที่ให้มาร่วมพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชุมชนตลิ่งชัน รวมถึงจังหวัดรอยต่อที่มาร่วมคุยกัน ซึ่งก็พร้อมรับน้ำแต่ด้วยในข้อจำกัดต่างๆ ผู้ว่าฯ ก็มีนโยบายและแผนการที่ชัดเจน ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลางถึงระยะยาว ซึ่งมีความตั้งใจเกินร้อย ความตั้งใจที่ท่านมีคิดว่าประชาชนต้องสบายใจ อีกทั้งผู้ว่าฯ กทม. และรองผู้ว่าฯ กทม.ก็มีความรู้พื้นฐานในด้านนี้ เราจึงไม่กังวลในเรื่องแผนและนโยบายการบริหารจัดการ อนาคตข้างหน้าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ผู้ว่าฯ ก็รับปากว่าจะวางรากฐานให้ ถ้ามีผู้ว่าฯ คนใหม่มาก็คงต้องเดินตามนโยบาย หากไม่เดินแล้วก็จะติดขัดอีก

ขณะที่ นายธเนศร์ กล่าวว่า กรมชลประทานเป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติที่ต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม. จะเห็นว่าการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเขตลาดกระบัง คลองประเวศ คลองแสนแสบ เราได้พยายามที่จะติดตั้งเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำในแนวเหนือใต้ให้ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ