ชัชชาติ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ เร่งแก้ 6 ปัญหาเร่งด่วน มุ่งขับเคลื่อนกทม.เป็นศูนย์กลางธุรกิจ

ข่าวทั่วไป Monday October 10, 2022 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 22/65 ว่า กทม. ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อดู 6 เรื่องเร่งด่วน ดังนี้

1. เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งขณะนี้ออกมาตรการมาแล้ว แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ระดับ 2 ค่าฝุ่นระหว่าง 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ระดับ 3 ค่าฝุ่นระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. และระดับ 4 ค่าฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.

"ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณากระบวนการในการดำเนินงาน จะมีป้ายบอกผลคุณภาพอากาศทุกโรงเรียนใน กทม. โดยจะมีการใช้บิลบอร์ดของ กทม. ในการแจ้งเหตุ ซึ่งในแต่ละระดับจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น สิ่งที่ทำคือ ให้มีศูนย์ปฏิบัติการ เรื่องฝุ่นขึ้นมา เป็นการรวมศูนย์และรายงานความหน้า รวมถึงการซักซ้อมความเข้าใจมาตรการก่อน" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

2. ศูนย์เกี่ยวกับการจราจร และเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งขณะนี้มีศูนย์อยู่แล้ว แต่จะใช้ประโยชน์ของศูนย์ให้เต็มที่ในการรวมปัญหาการจราจรและความปลอดภัย ทั้งนี้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เรื่องที่สามารถจัดการได้เลย โดยใช้วินัยจราจรในการกำกับดูแล ส่วนกลุ่มที่ 2 กำลังวิเคราะห์ เรื่องของการปรับแก้อย่างง่าย เช่น การขีดสีตีเส้น การปักป้ายจราจร โดยพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าและงบประมาณ กลุ่มที่ 3 เรื่องที่ต้องดำเนินงานร่วมกับจราจร เช่น การจัดระเบียบการจราจร การตั้งจุดกลับรถ โดยใช้ด้านกายภาพเข้ามาผสมด้วย และกลุ่มที่ 4 เป็นกรณีที่ต้องใช้โครงการขนาดใหญ่ เช่น ปริมาณการจราจรหนาแน่น อาจจะต้องทำสะพาน สร้างทางเชื่อม หรือขยายถนนเพิ่ม

3. ศูนย์ที่จะดูแลเกี่ยวกับเรื่องหาบเร่แผงลอย ซึ่งได้ดำเนินการมานานแล้ว โดยจะรวมศูนย์และออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง

4. เรื่องยาเสพติด ซึ่ง กทม. มีกระบวนการอยู่แล้ว แต่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้น เพื่อให้ตอบสนองต่อเรื่องกรณีเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กทม. ได้เฝ้าระวังตลอดเวลา

"มีศูนย์ที่ดูแลรักษาและบำบัดผู้ติดยาเสพติด แต่ทำตรงนี้เพื่อเป็นศูนย์กลาง และบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

5. เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและความโปร่งใส มีศูนย์ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครอยู่แล้ว ซึ่งจะนำมาผลักดันในเรื่องของความโปร่งใสของ กทม. ให้เข้มข้นขึ้น โดยศูนย์นี้จะเป็นตัวผลักดันเชิงยุทธศาสตร์ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญในการผลักดันจากนี้เป็นต้นไป

6. ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

"ที่มีศูนย์บูรณาการ ไม่ใช่ว่าตั้งหน่วยงานใหม่ แต่เป็นตัวที่จะช่วยบูรณาการ ช่วยประมวลผล และสรุปข้อมูลตามระยะเวลา เช่น ศูนย์การจราจรสรุปปัญหาทุกเช้า ศูนย์ยาเสพติดรายงานทุกอาทิตย์ เพื่อช่วยให้การบริหารงานมีการบูรณาการมากขึ้น" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินการคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) เพื่อสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยอาศัยกลไกในการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนประสานความร่วมมือในการทำงานแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ พร้อมสนับสนุนขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศในอนาคต และเป็นการขับเคลื่อนผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายภายใต้มิติเศรษฐกิจดี

ทั้งนี้ กทม. ได้ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งได้มีการประชุมครั้งแรกกันไปแล้ว และมีความคืบหน้าในหลายเรื่อง โดยแต่ละหน่วยงานได้มีข้อเสนอ อาทิ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอปรับรูปแบบการขออนุญาตก่อสร้างให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทบทวนราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การยกระดับ Street Food โดยการสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมกับการพัฒนาและบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs

ส่วนส.อ.ท.เสนอเรื่องโครงการบริหารจัดการขยะและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ (Upcycling) โครงการฟื้นฟูและปรับปรุงคลองต้นแบบ อาทิ คลองหัวลำโพง โครงการจัดการความปลอดภัยร้านอาหาร Street Food & Safety Food

ด้านสมาคมธนาคารไทย เสนอนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยในการพัฒนา กทม. และผลักดันให้เกิด Digital Transformation ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อประเภทต่างๆ ของประชาชนใน กทม. เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และสนับสนุนการพัฒนา กทม. เป็นเมืองนำร่องในการเชื่อมโยงระบบชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาค

สำหรับกรุงเทพมหานคร เสนอการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Regional Hub) และขอความร่วมมือภาคเอกชนร่วมกัน Work From Home ในช่วงวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่างเดือน ธ.ค. 65-ก.พ. 66 ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมาดำเนินการ รวมถึงรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการชุดใหญ่ทราบเพื่อดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ