บอร์ด กนช.ไฟเขียวแผนแม่บทน้ำ 20 ปีฉบับปรับปรุง พร้อมเคาะ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง

ข่าวทั่วไป Wednesday October 19, 2022 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 ปี 66-80)

สำหรับการปรับปรุงแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ได้นำประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำ เช่น สถานการณ์ของโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ เศรษฐกิจหมุนเวียนและการฟื้นตัว การเชื่อมโยงตัวชี้วัดและเป้าหมายกับแผนระดับชาติและแผนระดับนานาชาติ การปรับปรุงกรอบแนวทางการพัฒนา จากเดิม 6 ด้าน เป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีการควบรวมแผนแม่บทฯ เดิมด้านจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดินเข้าด้วยกัน เพื่อให้ครอบคลุมระบบนิเวศของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และ 5.การบริหารจัดการ

ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องการกำหนดเป้าหมายแต่ละระยะโดยนำงบประมาณมาพิจารณาประกอบ รวมถึงการปรับปรุงจำนวนกลยุทธ์ โดยเพิ่มกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดกลุ่มกลยุทธ์แผนแม่บทด้านบริหารจัดการให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดธรรมาภิบาลด้านน้ำ เช่น การส่งเสริมองค์กรและการมีส่วนร่วม การจัดทำเครื่องมือในการบริหารจัดการ การจัดทำงบประมาณและการเงิน ทั้งกลุ่มโครงการที่สามารถดำเนินการได้เลย ให้ขับเคลื่อนผ่านช่องทางปกติ และโครงการที่ดำเนินการจำเป็นต้องขับเคลื่อน แต่ต้องให้มีการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบ หรือแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้การขับเคลื่อนงานตามแผนแม่บทฯ เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติและติดตามประเมินผลได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุม กนช.ยังได้เห็นชอบ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ประกอบด้วย 1.เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท 2.เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3.ปฏิบัติการเติมน้ำ 4.กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 5.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร 6.เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ รับน้ำนอง 7.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 8.เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน 9.สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และ 10.ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งเห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 แนวคิดในการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และผลการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และข้อเสนอการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ