ผบ.ตร.ปรับโครงสร้าง ศปอส.ตร.ให้ทำงานเชิงรุกสกัดอาชญากรรมไซเบอร์ทุกรูปแบบ

ข่าวทั่วไป Sunday October 30, 2022 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผบ.ตร.ปรับโครงสร้าง ศปอส.ตร.ให้ทำงานเชิงรุกสกัดอาชญากรรมไซเบอร์ทุกรูปแบบ

รายงานงานข่าว แจ้งว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 468/2565 ลงวันที่ 21 ต.ค.65 เรื่อง การรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการมอบหมายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้ รองผบ.ตร.ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.)

เนื่องจากปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระทำความผิดที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้ออกคำสั่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.65 เป็นต้นไป

โดยสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว ได้แก่ ขั้นตอนการปฏิบัติกรณีผู้แจ้งมาแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน (วอล์คอิน) , ขั้นตอนการปฏิบัติกรณีผู้แจ้งได้แจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์, การกำหนดลักษณะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยให้สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนรับผิดชอบทำการสอบสวน ดังนี้ คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า ซื้อขายบริการ คดีข่มขู่หรือคุกคามทางเพศ คดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือข่มขู่คุกคาม คดีหลอกลวงให้โอนเงินที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ ให้สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9 รับผิดชอบการสอบสวน

คดีหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน คดีหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน คดีข่าวปลอม คดีที่กระทำต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยผิดกฎหมาย คดีเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม คดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ คดีหลอกลวงให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล คดีหลอกลวงให้ลงทุนที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือสิทธิประโยชน์ คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า บริการ ข่มขู่คุกคาม หลอกโอนเงินที่เป็นขบวนการ หรือมีผู้เสียหายจำนวนมากหลายพื้นที่ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในสังกัดตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รับผิดชอบการสอบสวน

คดีหลอกลวงให้ลงทุนที่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน แชร์ลูกโซ่ คดีกู้เงินออนไลน์ที่เรียกดอกเบี้ยเกิดอัตรา คดีหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ หรือค้ามนุษย์ที่มีลักษณะเป็นขบวนการ ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในสังกัดตำรวจสอบสวนกลาง รับผิดชอบทำการสอบสวน

โดยให้ ศปอส.ตร.เป็นหน่วยรับแจ้งคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ และทำการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบวิเคราะห์ความเชื่อมโยงและลักษณะคดี ควบคุมระบบรับแจ้งความออนไลน์ ส่งเรื่องไปยังสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบและทำการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ผบ.ตร.ได้ประชุมศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ครั้งที่ 8/2565 ประจำเดือนตุลาคม โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยปฏิบัติ บูรณาการการทำงานร่วมกันเสมือนว่าเป็นสถานีตำรวจประเทศไทย สามารถประสานการปฏิบัติกันได้โดยตรง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ให้มีผู้ประสานงานแต่ละสถานี ศูนย์ PCT, บก. และภาค

นอกจากนี้ได้สั่งการให้ ผบช. และ ผบก.ให้ความสำคัญ และเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองทุกครั้ง โดยให้ประชุมติดตามงานในหน่วยอย่างน้อยเดือนละ 2-4 ครั้ง, ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับออกตรวจเยี่ยมเยียนสถานีตำรวจ กองบังคับการ ตรวจสอบกำกับดูแลให้มีการลงข้อมูลให้ครบถ้วน ถูกต้องเป็นปัจจุบัน และการดำเนินการของสถานีตำรวจในภารกิจหลัก และภารกิจสนับสนุนการปฏิบัติของ สอท.และ บช.ก.ซึ่งให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับออกตรวจการปฏิบัติงานของหน่วยในสังกัด เพื่อรับทราบปัญหาข้อขัดข้องแล้วนำมาแก้ไขหากหน่วยปฏิบัติต่างๆ เกิดปัญหาข้อขัดข้องในระหว่างการปฏิบัติงาน สามารถเสนอปัญหา รวมทั้งข้อเสนอแนะมายัง ศปอส.ตร.ได้ตลอดเวลา

กรณีผู้เสียหายวอล์คอินให้พนักงานสอบสวนแนะนำและช่วยเหลือให้ผู้เสียหายลงในระบบรับแจ้งความออนไลน์ทุกรายและให้สอบสวนปากคำผู้เสียหายตามคำสั่ง ตร.ที่ 468/2565 ลง 21 ต.ค.65 เรื่องการรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบฯ หากตรวจพบว่าไม่มีการลงในระบบและสอบสวนปากคำผู้เสียหายตามนัยคำสั่งข้างต้น จะพิจารณาข้อบกพร่องหัวหน้าสถานีและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ให้ ผบช.สอท./เลขานุการ ศปอส.ตร. กำหนดแบบฟอร์ม สำหรับการตรวจกำกับดูแลของผู้บังคับบัญชาระดับ บช./ภ. บก./ภ.จว. เพื่อให้การกำกับดูแลในการรับแจ้งความออนไลน์เป็นไปแนวทางเดียวกัน

ผบ.ตร.ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างอาชญากรรมจำหน่ายอาวุธปืนออนไลน์ ระหว่างวันที่ 10 ต.ค.-8 พ.ย.65 แบ่งเป็น 3 ห้วง ดังนี้ ห้วงแรกระหว่างวันที่ 10-19 ต.ค.65 ห้วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 20-29 ต.ค.65 และห้วงที่ 3 ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-8 พ.ย. 65 โดยให้รายงานผลภาพรวมในวันที่ 9 พ.ย.65 และให้ตำรวจช่วยกันประชาสัมพันธ์โครงการที่สร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของ ตร. เช่น โครงการไซเบอร์วัคซีน, โครงการประสานความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, โครงการประสานความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงภัยออนไลน์ และวิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อและรู้เท่าทันกลโกงของคนร้าย และให้ฝ่ายเลขานุการ ศปอส.ตร. จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานฝ่ายสืบสวน และสอบสวนของ สอท.และศูนย์ PCT ภาค และ บก. เพื่อสร้างครูแม่ไก่ในแต่ละภาค กองบังคับการ ไปอบรมกับพนักงานสอบสวนและฝ่ายสืบสวนในระดับสถานีต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ