ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษีจูงใจเอกชนสนับสนุนสถานศึกษา

ข่าวทั่วไป Tuesday December 27, 2022 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการมีมาตราการนี้จะสามารถช่วยได้ ดังนี้

1. เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษา จะได้รับบริจาคจากภาคเอกชน ตามมาตรการภาษีดังกล่าวปีละประมาณ 10,000 ล้านบาทได้

2. เป็นการช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณของรัฐในด้านการศึกษาของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

3. สร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะทำให้บุคคลธรรมดาสามารถนำเงินมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินที่บริจาค แต่จะไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อนอื่นๆ ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาคแต่จะไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย เพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา โดยมีช่องทางบริจาคจะต้องเป็นระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 67

สำหรับสถานศึกษา 5 ประเภท ที่จะบริจาคเพื่อการลดหย่อนได้ มีดังนี้

1. สถานศึกษาของรัฐ

2. โรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ

3. สถาบันอุดมศึกษาเอกชน

4. สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย ตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

5. สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) อนุมัติโดยความเห็นชอบของ ครม. เช่น มหาวิทยาลัย CMKL มหาวิทยาลัยอมตะ ซึ่งบริจาคได้ทั้ง 5 ประเภท โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนการศึกษาตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 713) พ.ศ.2563 และเพิ่มเติมประเภทของสถานศึกษาให้ครบถ้วน และไม่เกิดความซ้ำซ้อนทางกฎหมาย และให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 และ (ฉบับที่ 655) พ.ศ.2561

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งมั่นออกกฎหมาย เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง สำหรับประโยชน์ทางตรง คือ จะทำให้สถานศึกษาสามารถนำเงินส่วนนี้ พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมมากขึ้น ส่วนประโยชน์ทางอ้อม คือ เป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นการสร้างโอกาส ความเสมอภาคทางสังคมให้ประชาชนทั่วประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ