กทม.แจงแผนรับมือ PM2.5 พุ่ง พร้อมแจ้งเตือนผ่าน LINE ALERT

ข่าวทั่วไป Tuesday January 24, 2023 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เพื่อสรุปสถานการณ์ คาดการณ์ ความร่วมมือ และการยกระดับมาตรการช่วงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ว่า สถานการณ์ฝุ่นล่าสุด ค่าฝุ่นรายชั่วโมงลดลงแล้ว เนื่องจากอากาศยกตัวสูงขึ้น และมีลมโฟลว์ โดยอากาศจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ปริมาณฝุ่นจะกลับมามากขึ้นอีกครั้งช่วงเย็นของวันที่ 26 ม.ค.นี้ ซึ่งประชาชนควรติดตามสถานการณ์ฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน AIRBKK และ Air4Thai ก่อนออกจากบ้าน เพื่อเตรียมตัววางแผน ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่นเดือนนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วถือว่าเบากว่า และหลังเดือนก.พ. สถานการณ์ฝุ่นน่าจะเบาลง เพราะลมเปลี่ยนทิศ

นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มพบ Hotspots (จุดหรือบริเวณที่มีค่าความร้อนมากผิดจากปกติบนผิวโลก) จากการเผาในที่โล่ง เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ อาจไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ถึง 10% แต่ก็มีผลกระทบ โดยการเผาส่วนใหญ่จะอยู่ในปริมณฑล พัดเข้ามารวมกับฝุ่นจากเครื่องยนต์ดีเซลที่สันดาปไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นที่มากขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งควบคุม

สำหรับสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการควบคุมฝุ่นให้ลดลงมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการเผาชีวมวลในกทม. มีการมอนิเตอร์ Hotspots ทุกวัน ถ้าพบการเผาจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปขอให้หยุดเผา ขณะเดียวกัน ก็มีการทำหนังสือถึงจังหวัดข้างเคียง เพื่อขอให้ควบคุมการเผาชีวมวล รวมไปถึงขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ในส่วนของมาตรการระยะยาว คือ ต้องเปลี่ยนการใช้รถยนต์ เป็นการใช้รถสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และรถที่ใช้น้ำมันที่ดีขึ้น รวมทั้งการสร้างระบบติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กทม.ได้ใช้ Traffy fondue ให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเหตุ หากพบจุดปล่อยควันดำ หรือมีการเผา

ส่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเรื่องมลพิษ จะมีการประชุมในวันที่ 26 ม.ค. นี้ โดยจะเน้นเรื่องการสนับสนุน Ecosystem ระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้า และการกำจัดมลพิษ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

"การดูแลเรื่องรถยนต์ในกทม. เป็นการดำเนินแผนระยะยาว ซึ่งกรมควบคุมมลพิษดูแลอยู่ เรื่องการปรับมาตรฐานเป็นยูโร 5 ซึ่งคาดว่า รัฐบาลจะประกาศใช้เดือนม.ค. 67 ซึ่งถ้าสามารถปรับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันให้ดีขึ้นได้ สันดาปก็จะดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องกำจัดต้นตอของฝุ่น ทั้งโรงงาน และรถควันดำต่างๆ โดยได้เพิ่มจุดตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น ทั้งไซต์ก่อสร้าง โรงปูน รถบรรทุก ทั้งนี้ ถ้าเป็นไปได้ ขอความร่วมมือเติมน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ" นายชัชชาติ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในวันที่มีการคาดการณ์ว่าปริมาณฝุ่นจะมีจำนวนมาก อาจขอความร่วมมือให้ใช้รถโดยสารสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการก่อสร้าง และขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน (Work from home: WFH) ในส่วนของโรงเรียนขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นปิดโรงเรียน เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ได้ต่อเนื่องเกิน 3 วัน

"ถ้าฝุ่น 51-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ก็แนะนำแล้วว่า ถ้าเลือกได้ให้ทำงานที่บ้าน ซึ่งก็ตั้งเป้าให้มีการทำงานที่บ้าน 60% แต่ถ้าไปถึง 75-100 มคก./ลบ.ม. ก็อาจต้องเข้มมาตรการขึ้น รวมทั้งเรื่องการจำกัดการเดินทางด้วย ซึ่งก็ต้องคุยกับกรมควบคุมมลพิษอย่างใกล้ชิด โดยมองว่าการกลับไปทำงานที่บ้าน ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะทุกคนมีประสบการณ์อยู่แล้ว และก็เป็นประโยชน์กับสุขภาพของทุกคนด้วย" นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ ถ้าสถานการณ์ฝุ่นถึงระดับสีแดง หรือมีปริมาณมากขึ้น อาจต้องจำกัดการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาดังกล่าว จะช่วยให้สถานการณ์ฝุ่นดีขึ้นจริงๆ หรือไม่ เนื่องจากมีผลกระทบด้านอื่นตามมาด้วย ด้านกรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการตั้งศูนย์เพื่อปรับรถดีเซลเก่าที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ สามารถนำเครื่องไปปรับให้สามารถเผาไหม้ได้ดีขึ้น

"ต้องช่วยกันดูการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า ซึ่งก็จะถูกต้องอยู่ประมาณ 70% ขณะเดียวกัน ต้องลดกิจกรรมที่จะทำให้เกิดฝุ่น และรู้จักป้องกันตนเอง หน้ากากป้องกันโควิด-19 ถ้าใส่ถูกต้องก็สามารถกันได้ถึง 60% ถ้าฝุ่นอยู่ที่ประมาณ 50-60 มคก./ลบ.ม. ก็จะเหลือแค่ 20 มคก./ลบ.ม. ช่วยบรรเทาความรุนแรงได้ นอกจากนี้ สำนักอนามัย จะมีการแจกหน้ากากให้กลุ่มเปราะบาง" นายชัชชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการพูดคุยกับ LINE ALERT ว่า จะมีการแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านไลน์ LINE ALERT ถ้าค่าฝุ่นในกทม. เกินมาตรฐาน 10 เขต จาก 50 เขต หรือเป็นสีส้ม จะให้แจ้งเตือนประชาชนทันที หรือถ้า 1 เขต เป็นสีแดง ก็ให้แจ้งเตือนเช่นกัน

อนึ่ง ในช่วงสายวันนี้ กทม. ได้รายงานผลการตรวจวัดค่า PM 2.5 ในกรุงเทพฯ โดยตรวจวัดได้ 41-85 มคก./ลบ.ม. หรือค่าเฉลี่ย 57.8 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึง 61 พื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ