เอกชนร่วมมือ work from home หนุน กทม.ลดปัญหาฝุ่น PM2.5

ข่าวทั่วไป Wednesday January 25, 2023 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สำนักสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมพูดคุยถึงแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กทม. โดยแผนการดำเนินการของกทม. ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. การติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น ตั้งวอร์รูมเกี่ยวกับ PM 2.5 และเปิดแพลตฟอร์ม Traffy fondue ให้แจ้งเรื่องฝุ่นและควันดำ นอกจากนี้ ยังมีการรายงานการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นทุกวัน 2. ลดต้นตอของฝุ่น ทั้งจากควันดำ การทำเกษตร โรงงาน เป็นต้น และ 3. การป้องกันสุขภาพ เมื่อสถานการณ์ฝุ่นเกินมาตรฐาน

"กทม. อยู่ระหว่างการหารือเรื่องการจำกัดรถใหญ่เข้าเมือง อาจทำให้มีรถเล็กรับสินค้ามากขึ้น ตอนนี้มี 17 เส้นทางที่เปิดให้วิ่ง 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการติดเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นเพิ่มเติม เพื่อสำรวจว่ามีผลต่อการเพิ่มฝุ่นหรือไม่ นอกจากนี้ กทม. ยังได้ส่งจดหมายถึงภาคเอกชน ขอความร่วมมือให้ร่วมรณรงค์ทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) ซึ่งขณะนี้มี 11 หน่วยงานที่ตอบรับความร่วมมือแล้ว ซึ่งจะมีการแสดงตัวต่อผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 28 ม.ค. นี้" นายพรพรหม กล่าว

ด้านนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยเป็นวัฏจักร ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในฤดูหนาว สำหรับปีนี้กรมฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์ฝุ่น และคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่า ช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 66 และฝุ่นมีค่าเกินมาตรฐานในระดับสีส้มในวันที่ 24 ม.ค. ในส่วนของวันนี้คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก

อย่างไรก็ดี ปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐานจะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค. และจะเกินมาตรฐานในระดับสีส้มในวันที่ 1 ก.พ. และปัญหานี้จะอยู่ต่อเนื่องไปถึงเดือนเม.ย. เนื่องจากอุตุนิยมวิทยา รายงานว่าอากาศจะมีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้สถานการณ์ฝุ่นรุนแรงขึ้น ซึ่งเดือนก.พ. มีสถิติความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นมากที่สุด

ด้านนายศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิสารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดฝุ่น 2 ประการ คือ

1. ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ เพดานการลอยตัวของอากาศกทม. เนื่องจากฝุ่นจะเกิดขึ้นเวลาที่เพดานเตี้ยลง และไม่มีลม โดยสถานการณ์ฝุ่นจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค. หลังจากนั้นจะค่อยๆ คลี่คลาย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อเข้าช่วง 31 ม.ค.-1 ก.พ. มีโอกาสที่สถานการณ์ฝุ่นจะรุนแรงเหมือนวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา

2. ปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ คือ แหล่งกำเนิด ทั้งปัจจัยหลักอย่างการจราจรในพื้นที่กทม. รถยนต์สันดาป โรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่มีบอยเลอร์ รวมทั้งการเผาในที่โล่ง เผาจากภาคครัวเรือน เช่น การปิ้ง-ย่าง ล้วนส่งผลกระทบ ซึ่งข้อมูลจาก GISTDA พบว่า เริ่มพบการเผาในจังหวัดรอบๆ ที่ติดกับจังหวัดในปริมณฑลมากขึ้น

"กทม. ก็เหมือนห้องๆ หนึ่ง ในช่วงฤดูหนาว ถ้าเพดานห้องต่ำ ไม่มีลม ในขณะที่การเผาไหม้จากควันรถและโรงงานเท่าเดิม ก็ทำให้เกิดฝุ่นมากขึ้นได้ ซึ่งปัจจัยทางอากาศเราไม่สามารถควบคุมได้ แต่กองไฟในห้องของกทม. การเผาไหม้ต่างๆ เราสามารถร่วมกันควบคุมได้" นายศักดา กล่าว

ด้าน น.ส.วรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การกำจัดต้นตอฝุ่น PM 2.5 จะมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ แบ่งตามระดับฝุ่น 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับ 1 ฝุ่นไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.): ตรวจไซต์ก่อสร้าง, ตรวจโรงงาน 1,044 แห่ง, ตรวจแพลนท์ปูน 133 แห่ง, ตรวจรถยนต์ควันดำ 14 จุด/วัน, ตรวจรถบรรทุก รถโดยสารควันดำ 2 วัน/สัปดาห์ และควบคุมการเผาในที่โล่ง
  • ระดับ 2 ฝุ่น 37.6-50 มคก./ลบ.ม.: เพิ่มความถี่ในการตรวจไซต์ก่อสร้าง, ตรวจโรงงาน 260 แห่ง, ตรวจแพลนท์ปูน 133 แห่ง, ตรวจรถยนต์ควันดำ 20 จุด/วัน, ตรวจรถบรรทุก รถโดยสารควันดำ 4 วัน/สัปดาห์ และควบคุมการเผาในที่โล่ง ดำเนินคดี
  • ระดับ 3 ฝุ่น 51-75 มคก./ลบ.ม.: WFH 60% ขอความร่วมมือหยุดกิจกรรมที่เกิดฝุ่น ทั้งการก่อสร้าง, คืนผิวจราจร, ลดค่าโดยสาร/ ลดค่าจอดรถสาธารณะ, ป้องกันผลกระทบในโรงเรียน และควบคุมการเผาในที่โล่ง ดำเนินคดี
  • ระดับ 4 ฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม.: WFH ทำงานระยะไกล 100% เลี่ยงเส้นทางรถบรรทุก ขยายพื้นที่ในการจำกัดเวลารถบรรทุกขนาดใหญ่, ห้ามจอดรถบนถนนสายหลักและสายรอง, สั่งปิดโรงเรียน และสถานประกอบการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง ควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงาน

น.ส.วรนุช กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม. มีการเพิ่มคลินิกมลพิษทางอากาศจาก 3 แห่ง เป็น 5 แห่ง ซึ่งเชื่อว่าสามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคตาอักเสบ จากอากาศที่มีปริมาณฝุ่นมาก จำนวนผู้เพิ่มขึ้นจากเดือนธ.ค. 65 ที่มีผู้ป่วย 110,000 คน ขณะที่เดือนม.ค. ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 90,000 คน รวมเป็นผู้ป่วยสะสม 210,000 คน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และกทม.

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ 60% เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย เช่น เจ็บตา ตาแดง คันคอ และน้ำมูกไหล ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการหายใจลำบาก และแน่นหน้าอก อย่างไรก็ดี แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทั่วไป ซึ่งสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้ 70% แต่ถ้าระดับฝุ่นเกินมาตรฐาน เป็นระดับสีส้ม หรือแดง แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้ 95%

"ผู้ที่มีโรคประจำตัวให้พกยา หรือถ้ามีอาการสามารถโทรสายด่วนปรึกษาแพทย์ 1478 หรือเข้าไปประเมินอาการตนเองในแอปพลิเคชัน 4Health_PM2.5" นพ.มณเฑียร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ