กทม. ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวตุรกี ตึกสูงในกรุงพร้อมรับมือแค่ไหน?

ข่าวทั่วไป Wednesday February 22, 2023 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ชี้การออกแบบอาคารตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป มีการรองรับแผ่นดินไหวแล้ว พร้อมเก็บข้อมูลแบบแปลนอาคาร และทยอยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนอาคารสูง ส่วนกรณีเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น สถานีดับเพลิง-กู้ภัย เตรียมพร้อมทั้งเครื่องมือ-การซักซ้อมเหตุเป็นประจำทุกปี เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีและซีเรีย นับว่าเป็นภัยพิบัติที่ทำให้ประชาชนวิตกกังวลว่า หากมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในกทม. ซึ่งมีตึกสูงจำนวนมาก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านภัยพิบัติ จะมีมาตรการรองรับเหตุการณ์ลักษณะนี้อย่างไร

ในส่วนของ กทม. มีภารกิจหลักด้านการดูแลความปลอดภัยของประชาชน และให้ความสำคัญต่อการเตรียมการรองรับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด อีกทั้งยังให้ความสำคัญในบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีเกณฑ์การบังคับด้านการออกแบบ การก่อสร้าง การดัดแปลงอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง และมีระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อาคาร

นายวิศณุ กล่าวว่า ในกทม. มีอาคารที่เข้าข่ายการบังคับตามกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2564 จำนวน 3,028 หลัง ซึ่งได้รับการออกแบบตามเกณฑ์การบังคับของกฎหมายแล้ว และมีอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ จำนวน 10,386 หลัง

นอกจากนี้ ตามกฎกระทรวง กำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ.2548 ได้กำหนดให้เจ้าของอาคารที่มีอาคารเข้าข่ายเป็นอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ 1. อาคารสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป) 2. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) 3. อาคารชุมนุมคน (อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป) 4. โรงมหรสพ 5. โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป 6. สถานบริการที่มีพื้นที่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป

7. อาคารชุดหรืออาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป 8. โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป และ 9. ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ซึ่งมีความสูงจากพื้นดินตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ส่งรายงานการตรวจสอบอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคารหรือสั่งให้แก้ไข แล้วแต่กรณี

นายวิศณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ กทม. ยังได้มีการเก็บข้อมูลแปลนอาคาร และสั่งการให้ทยอยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวบนอาคารสูง อาคารก่อนปี 2550 ซึ่งจะมีการจัดกลุ่มก่อน และเริ่มที่อาคารสาธารณะที่กทม. และภาครัฐดูแล เช่น โรงพยาบาล และถ้าข้อมูลมีมากขึ้นก็จะนำข้อมูลนี้แนะนำไปที่เจ้าของอาคาร โดยจะไม่บังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่จะประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลปัจจุบัน

นายสุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวในกทม. ว่า ประเทศไทยไม่อยู่ในพื้นที่แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก โดยรอยเลื่อนที่ใกล้ที่สุด คือ แถวทะเลอันดามัน และประเทศเมียนมา ดังนั้น ความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวจึงมีน้อย

ทั้งนี้ จากการสำรวจในไทยมีรอยเลื่อนทั้งหมด 16 รอยเลื่อนใหญ่ และรอยเลื่อนของไทยในภาพรวมไม่ถึง 8 ริกเตอร์ โดยรอยเลื่อนที่ใกล้ กทม. มากที่สุด อยู่ที่กาญจนบุรี ซึ่งก็มีโอกาสสร้างความรุนแรงต่อ กทม.ได้ เนื่องจาก กทม.มีดินอ่อน ทำให้สามารถรับรู้และขยายสัญญาณแผ่นดินไหวได้มากกว่าปกติ ส่งผลให้อาคารใน กทม. รับรู้แรงสั่นสะเทือนหรือเสียหายได้

"ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ต้องมีการประเมินความเสี่ยงอาคาร ระหว่างเกิดเหตุการณ์ การประเมินสภาพอาคารคือส่วนสำคัญที่สุด และประเมินว่าจะมีการเกิดอาฟเตอร์ช็อกที่รุนแรงเท่าใด ซึ่งจะทำให้มีโอกาสให้คนไปช่วยได้เร็ว และผู้ที่ไปช่วยไม่บาดเจ็บ นอกจากนี้ ควรสร้างซินาริโอในกรณีต่างๆ และมีระบบการจัดการที่ดี" นายสุทธิศักดิ์ กล่าว

นายนคร ภู่วโรดม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของแผ่นดินไหว ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ อาคารและลักษณะของดินในพื้นที่ ทั้งนี้ ได้มีการเก็บข้อมูลดินในกทม. และจังหวัดใกล้เคียงแบ่งเป็น 10 โซน เพื่อใช้ในการออกแบบอาคารที่แตกต่างกันในแต่ละจุด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีอาคารใดบ้างที่ไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ โดยในเชิงวิชาการนั้น สามารถวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงได้ทุกอาคาร

นายธนิต ใจสอาด กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการสำรวจอาคารเก่าที่คาดว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว กรมฯ ได้พยายามออกหลักเกณฑ์ในการประเมินอาคาร ซึ่งอาจะทำให้มีมุมมองไปได้ 2 มุม คือ 1. อาคารที่ผ่านการประเมิน เสมือนว่ากรมฯ การันตีว่าปลอดภัย แต่หากเกิดอะไรขึ้นกับอาคาร กรมฯ ก็จะต้องรับผิดชอบ และ 2. อาคารที่ไม่ผ่านการประเมิน เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการประเมินมีหลากหลาย ซึ่งถ้าใช้หลักเกณฑ์ของกรมฯ ก็มีโอกาสที่จะไม่ผ่านสูง

ดังนั้น ถึงแม้จะผ่านการประเมินขั้นต้นแล้ว จะต้องมีการประเมินอาคารแบบละเอียด และต้องระบุให้ได้ว่าอาคารไม่ปลอดภัยจริงๆ และสุดท้ายภาระก็จะตกอยู่ที่เจ้าของอาคาร ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจของเจ้าของอาคารในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ดำเนินการได้ค่อนข้างลำบาก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีกฎหมายที่ออกมาจูงใจมากขึ้น เพื่อให้เจ้าของอาคารเก่าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวต้องปรับปรุงอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรง

นายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัย ลาดยาว กรุงเทพมหานคร (ทีม USAR Thailand) กล่าวว่า การปฏิบัติงานในเหตุแผ่นดินไหวในเมืองฮาทาย ประเทศตุรกี มีอาคารวิบัติกว่าหมื่นอาคาร ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญในการกู้ภัย ต้องอาศัยการดูข้อมูลอาคาร ความเชี่ยวชาญ และการคำนวณ

อย่างไรก็ดี แม้ในกทม. จะไม่เคยเกิดเหตุแผ่นดินไหวแบบจริงจัง แต่กทม. เคยเกิดเหตุการณ์อาคารถล่มจากปัจจัยอื่น ซึ่งการเข้าถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดสำคัญมาก ปัญหาคือไทยมีหน่วยงานหลายฝ่าย มีหลายครั้งที่หน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายเข้าไปในพื้นที่ก่อน จึงอาจเกิดเหตุเพิ่มได้ ดังนั้น ต้องปรับที่การเรียนรู้ของประชาชนว่า ควรแจ้งเหตุหน่วยงานให้ตรงวัตถุประสงค์ มีอำนาจหน้าที่โดยตรง เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

"ตุรกีมีระบบการบริหารงาน กระจายหน้าที่ได้ทุกพื้นที่ ไม่มีการทำภารกิจซ้ำ ของไทยมีปัญหาเรื่องหน่วยงานทำงานซ้ำ หน่วยงานอื่นรบกวนพื้นที่เกิดเหตุ จากการที่มีองค์ความรู้แตกต่างกัน อาจทำให้เสียเวลาและอาจเกิดการสูญเสียเพิ่มได้" นายภุชพงศ์ กล่าว

นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าวว่า ควรมีการประเมินอาคารทั้งอาคารใหม่ และอาคารเก่า โดยสามารถประเมินอาคารได้เบื้องต้นจากแบบแปลน และไม่ต้องใช้เวลามาก ถ้าอาคารไหนเข้าข่ายเสี่ยง สามารถประเมินแบบละเอียดต่อได้ แต่อาจต้องใช้เวลา

"แม้ กทม. มีความอันตรายต่อการเกิดแผ่นดินไหว แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่ในกรณีของตุรกี ระดับความรุนแรงแรงของแผ่นดินไหวแรงกว่าที่คาดว่าจะเกิดใน 500-2,500 ปี จึงเป็นข้อมูลบ่งชี้ว่า นี่เป็นเรื่องไม่แน่นอน สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน" นายเป็นหนึ่ง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ