กทม.อนุมัติบีทีเอสปรับปรุงพื้นที่เชิงพาณิชย์ 12 สถานี-ทางเชื่อมเข้าพารากอน

ข่าวทั่วไป Thursday March 2, 2023 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กทม.อนุมัติบีทีเอสปรับปรุงพื้นที่เชิงพาณิชย์ 12 สถานี-ทางเชื่อมเข้าพารากอน

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ที่มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานมีมติเห็นชอบการดำเนินการใน 3 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย

1.การขอปรับปรุงชั้นจำหน่ายตั๋วสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวน 12 สถานี

  • สายสีลม จำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าเซนต์หลุย (S4) สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง (S2) และสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี (S3)
  • สายสุขุมวิท จำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (N3) สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (N8) สถานีรถไฟฟ้าชิดลม (E1) สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต (E2) สถานีรถฟฟ้าอโศก (E4) สถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ (E5) สถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ (E6) สถานีรถไฟฟ้าเอกมัย (E7) และสถานีรถไฟฟ้าอ่อนนุช (E9)

โดยขอยกเลิกพื้นที่ห้องใต้บันได 4 จุดแล้วไปสร้างในตำแหน่งใหม่ และปรับปรุงบริเวณโถงกลางสถานีให้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องปลอดภัยด้านอัคคีภัย การใช้วัสดุที่ใช้มีค่ากันไฟ ไม่ลามไฟ ไม่กีดขวางทาง การคำนวณการอพยพ และเป็นไปตามรายการการตรวจประเมินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ

2.การขอปรับปรุงทางเชื่อมบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามกับโครงการสยามพารากอน โดยใช้วัสดุแบบเดิม เพื่อให้สวยงาม ทันสมัย ไม่มีการปรับปรุงโครงสร้าง

3.บริษัท อัลติจูด ครีท ตลาดพลู จำกัด ขอขยายระยะเวลางานก่อสร้างทางเดินยกระดับ (Sky Walk) เชื่อมระหว่างระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร จากสถานีรถไฟฟ้าตลาดพลูถึงบริเวณด้านหน้าอาคารชุดพักอาศัยอัลติจูด ยูนิคอร์ สาทร-ท่าพระ ความยาว 139.4 เมตร เริ่มสัญญา 10 ม.ค.65 สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย.65 ระยะเวลาก่อสร้าง 240 วัน ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ 100% งานสถาปัตยกรรมแล้วเสร็จ 95% งานระบบไฟฟ้าแล้วเสร็จ 95% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.66 โดยผู้รับจ้างขอขยายเวลาส่งมอบในวันที่ 31 มิ.ย.66 ที่ประชุมรับทราบ และเร่งรัดให้เปิดใช้ทางเดินยกระดับตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.66 เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สัญจร

ส่วนการขออนุญาตรื้อย้ายบันไดเลื่อนของสถานีรถไฟฟ้าพญาไท เพื่อมาติดตั้งในบริเวณสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า บันไดเลื่อนของสถานีรถไฟฟ้าพญาไทสามารถช่วยอำนวยความสะดวกประชาชนในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้โดยเฉพาะสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพญาไท เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต จึงเห็นควรคงบันไดเลื่อนที่สถานีพญาไทไว้ดังเดิม ส่วนแผนการสร้างบันไดเลื่อนสถานีพร้อมพงษ์จะทำการสำรวจว่าสถานีรถไฟฟ้าใด มีความต้องการจะติดตั้งบันไดเลื่อนใหม่ก็จะไปก่อสร้างทดแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ