จำคุกอดีตบิ๊กทีโอที 20 ปี-ชดใช้กว่า 1 พันลบ.ใช้อำนาจเกินหน้าที่

ข่าวทั่วไป Friday March 17, 2023 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุกนายวรุธ สุวกร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที 20 ปี ชดใช้กว่า 1 พันล้านบาท กรณีใช้อำนาจเกินหน้าที่อนุมัติจ่ายเงิน บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำพิพากษา นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อท 139/2565 ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง นายวรุธ สุวกร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ทีโอที เป็นจำเลย ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ โดยพิพากษาว่า นายวรุธ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 จำคุก 20 ปี กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ผู้ร้อง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นเงินจำนวน 1,062,147,006.16 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 5% ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 525,370,000 นับถัดจากวันที่ 15 ธ.ค. 2565

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 ม.ค.63 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียว ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยใช้ชื่อว่า บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดย บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จึงรับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของ บมจ.โอที ทั้งหมด

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า นายวรุธ ซึ่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ผู้เสียหาย จำเลยจึงเป็นพนักงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือ หน่วยงานของรัฐฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

โดยระหว่างวันที่ 30 เม.ย. - 13 ต.ค.2551 จำเลยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ให้ไปเจรจากับ บมจ.สามารถไอ-โมบาย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.สามารถ ดิจิตอล (SDC)) จากกรณี ทีโอที ถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เรื่องผิดสัญญาและเรียกร้องเงิน จำนวน 2,648,771,009 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของต้นเงินนับถัดจากวันฟ้อง

จำเลยได้ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย โดยอนุมัติจ่ายเงินให้บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย เป็นจำนวน 1,485 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกินกว่าวงเงิน 10 ล้านบาท ที่จำเลยมีอำนาจอนุมัติได้ ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที และจำเลยมิได้ขออนุมัติการจ่ายเงินดังกล่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ