กรีนพีซ เรียกร้องรัฐบาลประกาศพื้นที่ภาคเหนือเป็นเขตภัยพิบัติหลังเผชิญวิกฤต PM2.5 เกินมาตรฐาน

ข่าวทั่วไป Thursday March 30, 2023 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรีนพีซ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการ ใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในการประกาศเขตภัยพิบัติในพื้นที่ที่มีผลกระทบจากฝุ่นพิษในระดับที่เข้มข้นต่อเนื่องกันอย่างน้อย 5 วันขึ้นไป โดยใช้เกณฑ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงภายใต้มาตรฐานคุณภาพอากาศ PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปที่จะมีการบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2566 ตามที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา

สืบเนื่องจากตลอดทั้งเดือนมี.ค. 66 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์อุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางแห่งอาเซียน (ASEAN Specialised Metroolorical Centre-ASMC) ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ยกระดับการเตือนภัยสถานการณ์ฝุ่นพิษที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งปกคลุมเหนืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นระดับ 3 หรือระดับสูงสุด (Activation for Alert Level 3 for the Mekong Sub-region)

ทั้งนี้ ฝุ่นพิษข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ต้องประสบกับผลกระทบทางสุขภาพ รวมถึงอาการหายใจติดขัด แสบตา เจ็บคอ บางรายมีอาการเลือดกำเดาไหล และไอเป็นเลือด จากการรับสัมผัสฝุ่นพิษในระดับที่เป็นอันตราย (hazardous) โดยมีดัชนีคุณภาพอากาศมากกว่า 100 ขึ้นไปต่อเนื่องกันนับสัปดาห์ ถือเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสังคมในวงกว้าง และต้องมีมาตรการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเร่งด่วน

นอกจากนี้ ควรใช้กลไกทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่มีความโปร่งใสและภาระรับผิด (accountability) ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ(commodity-driven deforestation) โดยมีระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรจะต้องรับภาระความเสียหายรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการบำบัด เยียวยา และฟื้นฟูคุณภาพอากาศ สุขอนามัยและความเสียทางเศรษฐกิจ หากสินค้าเกษตรที่จะนำเข้าหรือส่งออกเกี่ยวข้องกับการเผา และการทำลายสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน แทนที่จะผลักภาระทั้งหมดไปยังเกษตรกรที่อยู่ทั้งในระบบและนอกระบบเกษตรพันธะสัญญา

พร้อมทั้งยุติโครงการเหมืองถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศทุกโครงการ และยุติการสนับสนุนการลงทุนหรือความเกี่ยวข้องใดๆ ของโครงการเหมืองถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศเพื่อนบ้าน เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 และปรอทซึ่งเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่สำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ