หน้าร้อนเตือนระวังฮีทสโตรก สธ.แนะวิธีป้องกัน

ข่าวทั่วไป Friday March 31, 2023 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หน้าร้อนเตือนระวังฮีทสโตรก สธ.แนะวิธีป้องกัน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิและผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศร้อนจัด คาดว่าในเดือนเมษายนนี้ มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส แนะกลุ่มเสี่ยงเลี่ยงอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก

น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในประเทศไทยจะร้อนจัดยาว ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคม2566 และจะร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 40-43 องศาเซลเซียส ภาคกลางและภาคตะวันออกมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 40-42 องศาเซลเซียส ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และจังหวัดที่จะมีแนวโน้มอุณหภูมิสูงที่สุด คือ สุโขทัย ตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสภาพอากาศในประเทศไทยที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น อาจผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะโรคฮีทสโตรก ที่มีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง รวมทั้งผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน เช่น คนงานก่อสร้าง ทหารเกณฑ์ เกษตรกร นักวิ่งมาราธอน ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำในปริมาณน้อย ติดสุราทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูง กลุ่มสูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก ที่มีความสามารถในการระบายความร้อนจากร่างกายได้น้อยกว่ากลุ่มวัยรุ่นที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่ต้องใช้ยารักษาโรคบางชนิดเป็นยาที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ ที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากความร้อน

สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งหรือออกกำลังกายท่ามกลางสภาพอากาศร้อนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรจิบน้ำบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ ซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด นอกจากนี้ไม่ควรให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคอ้วนออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไป โดยเลือกทำกิจกรรมในอาคารที่มีอากาศเย็น หรือที่ร่ม แต่หากมีความจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรป้องกันตนเองด้วยการใช้อุปกรณ์กันแดด ได้แก่ ร่ม หมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด ครีมกันแดด ตั้งแต่ SPF 15 ขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอาการจากความร้อน

ทั้งนี้ ประชาชนต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคฮีทสโตรก เนื่องจากโรคดังกล่าวเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจเสียชีวิตได้ โดย 4 อาการสำคัญของโรคนี้ ได้แก่

1) เหงื่อไม่ออก 2) สับสน มึนงง 3) ผิวหนังเป็นสีแดง และแห้ง 4) ตัวร้อนจัด

ในกรณีที่พบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ให้โทรแจ้ง 1669 ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น รีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันโคนสิ้นอุดทางเดินหายใจ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วด้วยรถปรับอากาศหรือเปิดหน้าต่างรถ เพื่อให้อากาศถ่ายเท

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคลมแดด (Heatstroke) เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมาก จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน พบได้มากขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนจัด โดยผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิได้ลดลง ประกอบกับมักมีโรคประจำตัว หรือบางรายไม่สามารถดูแลตนเองได้

ปกติร่างกายจะมีการเผาผลาญอาหาร และสร้างความร้อนจากภายในตัวตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการระบายความร้อนออกจากร่างกาย เช่น ทางลมหายใจ ทางปัสสาวะ ทางผิวหนังร่วมกับต่อมเหงื่อ

แต่เมื่ออยู่บริเวณที่มีอากาศร้อนจัด ร่างกายจะระบายความร้อนได้ยาก ทำให้เสียเหงื่อมากขึ้น และร่างกายขาดน้ำมากขึ้น หากไม่ได้รับน้ำทดแทนที่เพียงพอ จะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจเกิดอาการ shock เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

นพ. ณัฐพล สุทธิสุนทรินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกณฑ์ในการวินิจฉัยอาการป่วยจากโรคลมแดด (Heatstroke) มีดังนี้

1.ร่างกายมีอุณหภูมิสูง ตั้งแต่ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป

2.มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น ภาวะสับสน เพ้อ เวียนศีรษะ ตอบสนองช้า หรือชัก

3.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน หรือออกกำลังกายหนัก

สำหรับวิธีการป้องกันโรคลมแดดในผู้สูงอายุ มีดังนี้

1.การหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ร่างกายมีความร้อนสูง

2. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี

3. อยู่ในสถานที่ที่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

4. อาบน้ำเย็นบ่อยๆ

5. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

6. ลดการออกกำลังกาย หรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน

7. ญาติหรือผู้ดูแล ควรติดตามอาการของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบตามข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ ใช้พัดลมพัดเพื่อระบายความร้อน และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ