ไทยย้ำเจตนารมณ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ-พัฒนาศก.ยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 13, 2023 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยเข้าประชุม ร่วมกับรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ 139 ประเทศ

อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมระดับสูง ได้แสดงความกังวลต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเลขาธิการ สผ. ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยร่วมกับประชาคมโลก ในการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ซึ่งไทยได้ดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โดยเน้นย้ำการส่งเสริม BCG Model โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี การสนับสุนกลไกทางการเงิน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และเสริมสร้างสมรรถนะ เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน ค.ศ. 2030 ซึ่งส่งผลให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายใน ค.ศ.2050

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ได้มีการหารือในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านนโยบาย ได้มีการรับรอง (ร่าง) กรอบงานความหลากหลายชีวิตภาพของโลก หลังปี ค.ศ.2020 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนชื่อเป็นกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล และกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่จะให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 2050 และหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี ค.ศ. 2030

ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของอนุสัญญาฯ ภาคีอนุสัญญาฯ ได้พิจารณาแนวทางที่จะจัดตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ และขอให้ภาคีจัดทำแผนการเงินระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อกระตุ้นรัฐบาล สถาบันการเงิน ธนาคาร และธุระกิจให้การสนับสนุนดำเนินงานมากขึ้น

ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการนั้น ได้มีการหารือถึงความหลาหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง สุขภาพ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกรุกราน (Invasive Alien Species: IAS) สิ่งมีชีวิตดันแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs) เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ