"ธรรมนัส" สั่งกรมชลฯ เร่งพัฒนาแหล่งน้ำ 5 โครงการใน จ.ตาก

ข่าวทั่วไป Saturday October 7, 2023 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งดำเนินแล้วเสร็จรวม 34 แห่ง แบ่งเป็น โครงการขนาดกลาง จำนวน 17 แห่ง ความจุรวม 87.30 ล้าน ลบ.ม. และโครงการขนาดเล็ก จำนวน 17 แห่ง ความจุรวม 6.17 ล้าน ลบ.ม. และมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัดตากจำนวน 5 โครงการ ได้แก่

1) อ่างเก็บน้ำห้วยฉลอม (อ.บ้านตาก)

2) อาคารบังคับน้ำบ้านแม่ยะ (อ.บ้านตาก)

3) โครงการระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปยังฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จังหวัดตาก (อ.เมือง)

4) โครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำวัง จังหวัดตาก (อ.สามเงา และ อ.บ้านตาก)

5) อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปะแล้ง (อ.แม่สอด)

โดยอ่างเก็บน้ำห้วยฉลอม (อ.บ้านตาก) มีแผนดำเนินการในปี 2567 ระยะเวลาโครงการ 4 ปี (2567-2570) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บ้านตาก และ อ.สามเงา มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จำนวน 9,000 ไร่ ปัจจุบันได้มีการดำเนินออกแบบแล้วเสร็จ พร้อมทั้งมอบกรมชลประทานศึกษาและออกแบบเพิ่มเติมทั้งในโครงการที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ในโอกาสนี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏืรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) อ.สามเงา และ อ.บ้านตาก จำนวน 10 ราย 10 แปลง เนื้อที่ 69-2-59 ไร่ มอบถุงยังชีพ 500 ถุง มอบข้าวสาร บรรจุ 5 กิโลกรัม จำนวน 500 ถุง มอบชุดผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ น้ำหมักฮอร์โมน พด.2, สารบำบัดน้ำเสียซุปเปอร์ พด.6, น้ำหมักไล่แมลง พด. และมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักจำนวน 1,000 ชุดด้วย

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยหลังฝนตกหนักส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.ตาก ส่งผลกระทบด้านการเกษตร 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บ้านตาก อ.สามเงา อ.แม่สอด และ อ.อุ้มผาง แบ่งเป็น ด้านพืช เกษตรกรได้รับผลกระทบ 3,268 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ได้แก่ ข้าว 7,643 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6,843 ไร่ มันสำปะหลัง 1,025 ไร่ ไม้ผล (กล้วยและฝรั่ง) 1,500 ไร่ พืชผัก 71 ไร่ รวม 17,011 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 201 ราย สัตว์ (โค) 3,213 ตัว ด้านประมง เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,066 ราย พื้นที่บ่อดินเสียหาย 547 ไร่

ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย พร้อมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย โดยกรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ น้ำดื่ม และของยังชีพ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังได้มอบเสบียงอาหารสัตว์หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรด้วย ทำให้ปัจจุบันสถานการณ์ได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ