"อนุสรณ์" หนุนแรงงานใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุนฯ

ข่าวทั่วไป Sunday November 5, 2023 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตอนุกรรมการร่างหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ จะเป็นการเลือกตั้งกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ครั้งแรกในรอบ 33 ปี นับจากที่มีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้จะใช้วิธีการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้น การเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม ทั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน และผู้แทนฝ่ายนายจ้าง นับเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยในระบบประกันสังคม และสถานประกอบการ

แต่เนื่องจากที่ผ่านมา มีผู้มาลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยเกินไป ไม่ถึง 1% ของผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง การที่กระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ขยายเวลาการลงทะเบียนออกไปเป็นเรื่องที่เหมาะสม และควรตั้งเป้าให้มีผู้มาลงทะเบียนมาขอใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก ให้ได้อย่างน้อย 30% หรือคิดเป็นผู้ประกันตน 3.6 ล้านคน เพื่อให้ผู้ได้รับเลือกตั้งมีความเป็นผู้แทนของผู้ประกันตนได้ดีขึ้น

"เพราะหากมีผู้ไปใช้สิทธิน้อยเกินไป ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการประกันสังคม จะไม่ได้เป็นผู้แทนของเสียงส่วนใหญ่ของผู้ประกันตน และอาจจะได้ผู้ที่มีความสามารถจัดตั้งคะแนนเสียง มากกว่าคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ซึ่งขณะนี้มีเม็ดเงินประมาณ 2.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.96% ของจีดีพีประเทศ ถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ" นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า รัฐบาลไทยควรยอมรับอนุสัญญา ILO 87/98 สิทธิในการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน เพื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยในสถานประกอบการ และควรให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO 102 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบประกันสังคม เพื่อรับประกันความครอบคลุมทั่วถึงของระบบประกันสังคม เสริมสร้างโครงสร้างทางกฎหมาย และการสนับสนุนทางการเมือง อันเป็นบ่อเกิดของระบบประกันสังคมที่ประสิทธิภาพ ยั่งยืน และตอบสนองต่อพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคม

นายอนุสรณ์ เห็นว่า ผลประโยชน์ด้านสวัสดิการสำหรับประชาชนยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม มีประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานได้ ในส่วนของแรงงานในระบบประกันตนนั้น แม้จะมีสวัสดิการที่ดีกว่าแรงงานนอกระบบประกันสังคม แต่เรายังสามารถพัฒนาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้อีก โดยเฉพาะการบริการทางการแพทย์ ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของประกันสังคมนั้น ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

กรณีของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมนั้น ถือว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการทางการแพทย์ที่เสียภาษีสองต่อ ต่อแรก คือ การเสียภาษีทั่วไป และ ต่อที่สอง คือ การหักเงินสมทบกองทุนสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลในกองทุนประกันสังคม รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมระหว่างระบบบริการสาธารณสุข 3 ระบบ คือ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ, ระบบประกันสังคม และระบบบัตรทอง

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 7.6-7.7 แสนล้านบาท หรืออย่างต่ำ 4.5% ของจีดีพี โดยมีกองทุนชราภาพ กองทุนประกันสังคม เป็นผู้รับผิดชอบดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุด แม้สวัสดิการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่งบประมาณที่จัดสรรไปสู่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมของไทย ยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพี คือ อยู่ที่ไม่เกิน 5% ขณะที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย จะอยู่ที่ 29-30% ส่วนรายจ่ายสวัสดิการสังคมต่องบประมาณของไทย จะอยู่ที่ประมาณ 20% และมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาวะดังกล่าวสะท้อนรายได้ภาษีต่อจีดีพีต่ำ และยังขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อม และภาษีเงินได้เป็นหลัก

นายอนุสรณ์ คาดการณ์ว่า ในปี 2576 เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) จะต้องใช้งบสวัสดิการสำหรับผู้ชราภาพสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีความจำเป็นต้องลดภาระทางการคลังด้วยการดำเนินการในนโยบาย 3 ด้าน ดังต่อไปนี้ คือ พัฒนาระบบการออมเพื่อชราภาพให้ขยายขอบเขตและเข้มแข็งขึ้น การปฏิรูประบบแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการศึกษานโยบายการเปิดเสรีแรงงาน และควรพิจารณาการรับผู้อพยพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีคุณภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ