นายกฯ เรียกถกด่วนหลัง PM2.5 พุ่ง เล็งใช้ "เชียงใหม่โมเดล" แก้ปัญหา

ข่าวทั่วไป Thursday February 15, 2024 13:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฯ เรียกถกด่วนหลัง PM2.5 พุ่ง เล็งใช้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปรับฟังรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งล่าสุด ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าอีก 2 วันสถานการณ์จึงจะคลี่คลาย

โดยนายกรัฐมนตรี สนใจเรื่องการแจ้งเตือนข้อมูลให้กับประชาชน และจังหวัดต่างๆ โดยอยากให้ยึด "เชียงใหม่โมเดล" มาเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ และจากที่นายกรัฐมนตรีได้ไปติดตามสถานการณ์ที่เชียงใหม่ถึง 3 ครั้งแล้ว ได้ขอให้ส่งความคืบหน้าเรื่องการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน และสรุปรายงานส่งมาเพื่อเข้าที่ประชุมในช่วงบ่ายวันนี้ ซึ่งนัดประชุมร่วมกับ รมว.มหาดไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผู้บัญชาการทหารบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มาติดตามสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งได้เห็น Heat Map ที่พบว่าช่วงนี้ค่าPM 2.5 สูงมาก โดยฮอตสปอต อยู่ที่ จ.กาญจนบุรี เป็นจำนวนมาก ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้บริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีมาก ทำให้ผลออกมาดี จึงอยากทำ "เชียงใหม่โมเดล" ให้กับทุกจังหวัด ส่วนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ขอความร่วมมือให้ประกาศทำงานที่บ้าน (work from home) ในบางส่วน

ส่วนเรื่องระยะสั้น จะต้องมีการลงพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด และฝ่ายความมั่นคงไปดำเนินการ และส่งข้อมูลให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าตรงไหนที่เป็นจุดฮอตสปอต ต้องมีการสั่งการชัดเจนว่าขั้นตอนต่อไปเป็นอย่างไร มีสายฮอตไลน์ประสานกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา เนื่องจากพบจุดการเผาจำนวนมาก

"ไม่ใช่คิดว่าอีก 3 วัน ทิศทางลมดีขึ้น เราไม่พูดถึง 3 วัน แต่จะพูดถึงวันนี้ ถ้าสถานการณ์ตอนเช้าไม่ดี ต้องการแก้ไขต้องอยู่กับมันไปยังไงก็ต้องแก้ไข จะคอย อีก 3-4 วัน ให้ทิศทางลมดีขึ้น จะหวังลมฟ้าอากาศมาช่วย ให้มันดีขึ้น ไม่ใช่วิธีการบริหารจัดการ ปัญหาที่ถูกต้อง" นายเศรษฐา กล่าว

ส่วนระยะยาวนั้น รัฐบาลได้หารือถึงเรื่องการจำกัดจำนวนรถที่ปล่อยไอเสีย หรือรถที่ใช้ดีเซลเข้าเมืองจะทำอย่างไร มาตรการสนับสนุนให้เปลี่ยนมาใช้รถ EV กทม. รวมถึงการย้ายคลองเตย ตามที่ผู้ว่าฯ กทม.บอกนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนปัญหาระยะสั้นของกทม.นั้น ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจสั่งให้ทำงานที่บ้าน ซึ่งตนก็สนับสนุน นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องของการหยุดระงับการก่อสร้าง

นายกรัฐมนตรี เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องเชิญชวนให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องพูดคุยกับ Operator ในการลดค่าใช้จ่ายเดินทาง ซึ่งต้องเร่งทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดทั้งสาย เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและมีราคาที่เข้าถึงได้ ขณะที่ต้องให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการลดการเผาด้วย

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้แก้ปัญหาได้ยาก เพราะมีการเผาในพื้นที่นอกประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นจากปกติ 2-3 เท่า รวมถึงสภาพอากาศจากฝั่งทิศตะวันออกพัดหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่ กทม.โดยตรง

"ในช่วงนี้กรมฝนหลวงฯ เร่งปฏิบัติการเช่นเดิมเพื่อบรรเทาสถานการณ์และให้ฝุ่นลอยขึ้นอากาศให้เร็วที่สุด แต่เนื่องจากเครื่องมือและอุปกรณ์ของกรมฝนหลวงฯ มีน้อยจึงทำได้เพียงระดับหนึ่ง กรมฝนหลวงฯ จะพยายามติดตามและบรรเทาสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด หากสภาพอากาศเอื้ออำนวยก็จะปฏิบัติการบินเพื่อทำฝนเทียม ซึ่งภายใน 1-2 วันคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น" นายสุพิศ กล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้หยุดเผาทำลายวัชพืช โดยให้บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพบก ให้จัดยานพาหนะช่วยชาวบ้านขนวัชพืช และหาแนวทางไปใช้เป็นพลังงานทดแทนการเผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์

โดยช่วงเย็นวันนี้ ตนจะเดินทางไป จ.เชียงราย เพื่อประชุมผู้ว่าราชการทางภาคเหนือ และทำความเข้าใจประชาชนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้เหมือนที่ จ.เชียงใหม่ ที่สามารถบริหารจัดการได้ดี ทำให้มีปริมาณฝุ่นน้อย จุดความร้อนลดลงไม่เกินกำหนด ส่วนที่ จ.กาญจนบุรี ที่พบจุดความร้อนเกินกำหนดนั้นได้โทรไปหาผู้ว่าราชการให้ลงพื้นที่แล้ว

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาภายในประเทศต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ พร้อมกับขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้เผาทำลายเศษวัสดุทางการเกษตร ส่วนในพื้นที่เมืองใหญ่อย่าง กทม.อาจต้องใช้มาตรการ WFH และกวดขันยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ ซึ่งจะลดปัญหาฝุ่นควันได้

กรณี WFH นั้นเป็นมาตรการตามร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ในสภา และหลายหน่วยงานให้ความร่วมมือแล้ว เว้นแต่บางหน่วยงานที่ทำไม่ได้ ซึ่งในช่วงเกิดโควิด-19 การ WFH ไม่ได้ลดโอกาสหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน

https://youtu.be/wmllBncJ1b8


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ