อยากรวย-อยากมี-อยากได้ ปมจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชั่น

ข่าวทั่วไป Sunday March 10, 2024 09:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อยากรวย-อยากมี-อยากได้ ปมจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชั่น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 59.39% มองสาเหตุที่ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐมาจากความอยากรวย อยากมี อยากได้ ขณะที่ประชาชนกลุ่มตัวอย่างอีก 31.53% มองว่าคนในสังคมส่วนใหญ่นับถือคนรวย คนมีอำนาจ คนมีอิทธิพล ตามด้วยประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 23.05% มองว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย, 20.23% มองว่าค่าครองชีพสูง เงินเดือนน้อย, 17.63% มองว่าเป็นการได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย, 17.40% มองว่าเป็นค่านิยมแบบนิยมพวกพ้องและเครือญาติ ความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์, 17.25% มองว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง ไม่เด็ดขาด และล่าช้า, 16.18% มองว่าเป็นระบบอุปถัมภ์หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับลูกน้อง, 8.93% มองว่าเป็นการได้รับผลประโยชน์มีความคุ้มค่ามากกว่าบทลงโทษทางด้านกฎหมาย, 7.25% มองว่าเป็นการแข่งขันทางการเมืองอย่างเข้มข้นเพื่อช่วงชิงตำแหน่งและผลประโยชน์ และกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน, 7.18% มองว่าคดีทุจริตจำนวนมาก สุดท้ายคนผิดก็ลอยนวล, 6.95% มองว่าเป็นวัฒนธรรมความเกรงใจ, 6.41% มองว่าระบบการควบคุมและตรวจสอบที่ขาดประสิทธิภาพ, 2.06% มองว่าประชาชนเบื่อหน่ายเพิกเฉยต่อการต่อต้านการทุจริต และ 2.67% ระบุไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ขณะที่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ในหน่วยงานต่างๆ พบว่า

  • สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กลุ่มตัวอย่าง 33.36% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น รองลงมา 28.17% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น ตามด้วย 16.79% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย, 14.73% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก, 5.50 ระบุไม่มีข้อมูล และ 1.45% ระบุไม่ทราบ/ไม่ตอบ
  • กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม กลุ่มตัวอย่าง 34.74% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา 30.15% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น ตามด้วย 15.57% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย, 12.52% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก, 5.65% ระบุไม่มีข้อมูล และ 1.37% ระบุไม่ทราบ/ไม่ตอบ
  • สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลุ่มตัวอย่าง 34.05% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา 28.47% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น ตามมาด้วย 18.63% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย, 11.07% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก, 6.02% ระบุไม่มีข้อมูล และ 1.76% ระบุไม่ทราบ/ไม่ตอบ
  • สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม กลุ่มตัวอย่าง 34.50% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา 24.43% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น ตามด้วย 20.69% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย, 10.00% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก, 8.47% ระบุไม่มีข้อมูล และ 1.91% ระบุไม่ทราบ/ไม่ตอบ
  • กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลุ่มตัวอย่าง 39.08% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา 22.14% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น ตามด้วย 22.06% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย, 8.78% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก, 6.49% ระบุไม่มีข้อมูล และ 1.45% ระบุไม่ทราบ/ไม่ตอบ
  • ตำรวจหน่วยอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ บก.ปปป.) กลุ่มตัวอย่าง 41.98% ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา 29.77% ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย ตามด้วย 19.54% ระบุว่าค่อนข้างเชื่อมั่น, 4.05% ระบุว่าเชื่อมั่นมาก, 3.13% ระบุไม่มีข้อมูล และ 1.53% ระบุไม่ทราบ/ไม่ตอบ

ทั้งนี้ นิด้าโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "คดีทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ" จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค.ที่ผ่านมา


แท็ก นิด้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ