ครม.ไฟเขียว กฟน.กู้เงินในประเทศ 3.89 หมื่นล้าน ลงทุน 6 แผนงานระยะยาว

ข่าวทั่วไป Tuesday April 2, 2024 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กู้เงินในประเทศจำนวน 38,900 ล้านบาท เพื่อลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่จำนวน 6 แผนงาน โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าการดำเนินงานแล้วเสร็จ ดังนี้

1.แผนงานขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปี 2565-2566 เป็นการขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า เช่น สายป้อนระดับแรงดัน หม้อแปลงจำหน่าย เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และคาปาซิเตอร์ พร้อมอุปกรณ์ประกอบ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนที่มีแน้วโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเขตให้บริการของ กฟน. และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า วงเงินเต็มแผนงาน 8,866.37 ล้านบาท แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ในประเทศ 6,500.00 ล้านบาท และเงินรายได้ 2,366.37 ล้านบาท

2.แผนปฏิบัติการดิจิทัลปี 2566-2570 วงเงินเต็มแผนงาน 6,652.52 ล้านบาท แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ในประเทศ 5,300.00 ล้านบาท และเงินรายได้ 1,352.52 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้

(1) แผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการผู้ใช้ไฟฟ้าและการบริหารองค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าให้ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว

(2) แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับระบบงานต่างๆ ให้สามารถทำงานตอบสนองระบบงานที่เป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ มีความทันสมัย และมีเสถียรภาพ

(3) แผนพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบสื่อสาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพื่อความมั่นคงปลอดภัยในระบบสารสนเทศและระบบสื่อสารขององค์กร วงเงินเต็มแผนงาน 6,652.52 ล้านบาท แหล่งเงินทุน เงินกู้ในประเทศ 5,300.00 ล้านบาท เงินรายได้ 1,352.52 ล้านบาท

3.แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าตามแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ระยะที่ 1 เป็นการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าในอนาคตได้ วงเงินเต็มแผนงาน 8,353.70 ล้านบาท แหล่งเงินกู้จากเงินกู้ในประเทศ 6,300 ล้านบาท เงินรายได้ 2,053.70 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้

(1) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา ถนนสีหบุรานุกิจ และถนนร่มเกล้า ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร

(2) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถนนศรีนครินทร์ (ถนนรามคำแหง-ถนนเทพารักษ์) ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร

4.แผนงานประสานสาธารณูปโภคทั่วไป ปี 2566-2570 เป็นการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยดำเนินการไปพร้อมกับโครงการสาธารณูปโภคของหน่วยงานภายนอก วงเงินเต็มแผน 2,797.87 ล้านบาท แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ในประเทศ 2,000 ล้านบาท และเงินรายได้ 797.87 ล้านบาทจำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร

(2) โครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนประชาชื่นจากการประปานครหลวงถึงถนนแจ้งวัฒนะ (ถนนหมายเลข 11) ของ กทม. ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร

(3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ของกรมทางหลวง (ทล.) ระยะทาง 2 กิโลเมตร

(4) โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 สายบ้านบางปูใหม่-บ้านบางปู ของ ทล. ระยะทาง 10 กิโลเมตร

5.แผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าตามแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 เป็นการนำสายไฟฟ้าลงดินเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมทั้งเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าในอนาคตได้ วงเงินเต็มแผน 9,972.90 ล้านบาท แหล่งทุนจากเงินกู้ในประเทศ 7,500 ล้านบาท และเงินรายได้ 2,472.90 ล้านบาท ประกอบด้วย 7 โครงการ ดังนี้

(1) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง ถนนสมเด็จเจ้าพระยา และถนนเจริญนคร ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร

(2) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถนนเพชรเกษม (ถนนรัชดาภิเษก-ถนนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร

(3) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ถนนพระราม 4 (ถนนพญาไท-คลองผดุงกรุงเกษม) ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร

(4) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ถนนพหลโยธิน (ถนนงามวงศ์วาน-ซอยพหลโยธิน 54/2) ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร

(5) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถนนรามคำแหง และถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร

(6) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถนนพระราม 9 (พระราม 9 ซอย 13-ถนนรามคำแหง) ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร

(7) เส้นทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีเขียว (ถนนเทพารักษ์-ถนนสุขุมวิท) ระยะทาง 4.3 กิโลเมตร

6.แผนขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า ปี 2566-2570 เป็นการขยายเขตและปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า เช่น สายป้อนระดับแรงดัน หม้อแปลงจำหน่าย เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และคาปาซิเตอร์ พร้อมอุปกรณ์ประกอบ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนที่มีแน้วโน้มเพิ่มสูงขึ้นในเขตให้บริการของ กฟน. และเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า วงเงินเต็มแผน 18,012.40 ล้านบาท แหล่งทุนจากเงินกู้ในประเทศ 13,600 ล้านบาท และเงินรายได้ 4,412.40 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ