"พิพัฒน์" เคลียร์ชัดค่าแรง 400 ชิงประกาศข่าวดีวันแรงงาน ก่อนไตรภาคีเคาะ 14 พ.ค.คาดมีผล ต.ค.

ข่าวทั่วไป Thursday April 25, 2024 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พ.ค.นี้จะประกาศเป็นนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วันทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 เป็นต้นไป ซึ่งตามข้อกฎหมายที่กำหนดให้คณะกรรมการไตรภาคี เป็นผู้มีอำนาจประกาศปรับขึ้นค่าแรงได้ จึงจะนัดประชุมในวันที่ 14 พ.ค.นี้เพื่อรองรับประกาศการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ

"วันที่ 14 พ.ค. จะประชุมไตรภาคีอีกครั้ง และนำเสนอว่าเป็นเดือนต.ค. ส่วนวันที่ 1 พ.ค.เป็นการประกาศในภาพรวมทั้งประเทศ 400 บาท ซึ่งจะมีผล 1 ต.ค.นี้"นายพิพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์เช้านี้

รมว.แรงงาน เชื่อว่า ในการประชุมวันที่ 14 พ.ค.นี้ ไม่น่าจะมีปัญหาขัดข้องใดๆ กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากขณะนี้ราคาสินค้าต่างๆ ได้ปรับขึ้นไปล่วงหน้าแล้ว จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องปรับขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.67 จะมีบิ๊กเซอร์ไพร์สเริ่มปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท/วันนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเป็นแค่เพียงการประกาศเป็นแนวนโยบายว่าจะปรับขึ้นโดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป แต่ไม่ใช่การเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.

ด้านนายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วันทั่วประเทศ ไม่ได้มีการขึ้นทันที เพราะการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น รมว.แรงงาน ไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้เนื่องจากเป็นนักการเมือง และหากมีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมจะถูกมองว่าการเมืองแทรกแซง ซึ่ง รมว.แรงงาน ทำได้เป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

นายคารม กล่าวว่า การประกาศขึ้นค่าแรงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 (ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน) ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีในทุกเดือน โดยในแต่ละการประชุมจะมีความชัดเจนว่าอาชีพไหนสมควรขึ้นค่าแรงบ้าง และขึ้นเป็นจำนวนเท่าไร สำหรับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างฯ ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.67 จะพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ทำให้มีความชัดเจนว่าอาชีพไหน หรือจังหวัดใดได้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทบ้าง

"รัฐบาลให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด แรงงานคือผู้ที่มีส่วนช่วยการพัฒนาของประเทศ การดูแลแรงงานจึงเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาล จะต้องมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการค่าจ้างฯ เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน" นายคารม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ