รถไฟฟ้า "สายสีเหลือง" ยังซ่อมไม่เสร็จ คาดเปิดบริการเต็มรูปแบบไม่ทัน 10 มิ.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Tuesday May 28, 2024 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รถไฟฟ้า

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 2/2567 เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีรางนำไฟฟ้า (Conductor Rail) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ร่วงหล่น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ว่า ปัจจุบันผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าและรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) กับสถานีศรีอุดม (YL16) เสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างติดตั้งอุปกรณ์ยึดรางนำไฟฟ้าและรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) กับสถานีสวนหลวงร.9 (YL15) ซึ่งไม่สามารถเปิดให้บริการทันในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 ได้ เนื่องจากยังคงรอชิ้นส่วนล๊อตสุดท้ายจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมาถึงไทยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2567 และจะดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จภายในสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน 2567

รถไฟฟ้า

จากนั้น กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย วิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (ICE) และผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลืองจะร่วมกันตรวจสอบความปลอดภัยและทดสอบการเดินรถร่วมกันอีกครั้งให้มีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจ ก่อนที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ต่อไป

ส่วนสาเหตุที่รางนำไฟฟ้าหลุดร่วงลงมายังพื้นด้านล่างนั้น เกิดจากนอตตัวผู้ (bolt) ที่ยึดแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) บริเวณรอยต่อที่ใช้สำหรับรองรับการขยายตัวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (expansion joint) ของคานทางวิ่ง (guideway beam) เกิดความเสียหายเนื่องจากการติดตั้งในระหว่างการก่อสร้างมีความบกพร่อง ส่งผลให้แผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) เกิดการเคลื่อนตัวและขบวนรถไฟฟ้าไปกระแทก จึงทำให้แผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) หล่นมากระแทกรางนำไฟฟ้า (conductor rail) ทำให้รางนำไฟฟ้าหลุดร่วงระหว่างสถานีกลันตัน (YL12) ถึงสถานีสวนหลวง ร.9 (YL15) ระยะทางประมาณ 6.40 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ได้ส่งชิ้นส่วนนอตตัวผู้ (bolt) ที่เสียหายดังกล่าวไปตรวจสอบที่ประเทศสิงคโปร์ และหน่วยงานทดสอบวัสดุในประเทศไทย เพื่อหาสาเหตุเชิงลึก รวมทั้งผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง และสายสีชมพูได้ดำเนินการตรวจสอบนอตตัวผู้ (bolt) ยึดแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) แล้วทุกจุดตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งตัวใดที่มีปัญหาได้ดำเนินการเปลี่ยนและติดตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งได้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบการคลายตัวของนอตยึด finger type expansion joint จากทุก 6 เดือนเป็นทุก 2 เดือนและเพิ่มความถี่การตรวจสอบแผ่นต่อเชื่อมคานทางวิ่ง (finger plate) ด้านบนเป็นทุก 7-10 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยต่อการเดินรถ

*เหตุน้ำรั่วเข้า MRT สายสีน้ำเงินจากท่อแอร์ตัน สั่งเพิ่มความถี่ทำความสะอาด

นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงแนวทางและมาตรการป้องกันเหตุขัดข้องรถไฟฟ้าฯ กรณีเหตุขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) เกิดเหตุน้ำรั่วไหลใส่ผู้โดยสารภายในขบวนรถ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 18.29 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ได้ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พบว่า สาเหตุเกิดจากการอุดตันของท่อระบายน้ำของระบบปรับอากาศ (Drain Hole)

โดยกรมการขนส่งทางรางได้กำชับ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าปฏิบัติตามแนวทางป้องกันเหตุ โดยตรวจสอบวิธีการทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด พร้อมทั้งเพิ่มความถี่และความรัดกุมในการตรวจสภาพและทำความสะอาดระบบปรับอากาศ จากเดิมทุก 3 เดือน เป็นทุกเดือน และพิจารณาปรับปรุงระบบให้สามารถเข้าถึงการซ่อมบำรุงระบบปรับอากาศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การซ่อมบำรุงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการอุดตันของท่อระบายน้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ