"สมิทธ"ชี้ภัยพิบัติพม่า-จีนส่งสัญญาณเตือนแรงขึ้น/ตึกบางแห่งยังเสี่ยง

ข่าวทั่วไป Tuesday May 13, 2008 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุเหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพม่าและจีนเป็นสัญญาณบอกเหตุให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องระบบเตือนภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่เสี่ยง เพราะภัยธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
"ภัยธรรมชาติที่เกิดในจีนและพม่าเป็นสัญญาณเตือนว่าภัยธรรมชาติเริ่มมีมากขึ้น และมนุษย์ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น...ประเทศไทยตั้งอยู่ในแผ่นดินที่สามารถได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติได้ตลอดเวลา" นายสมิทธ กล่าว
ทั้งนี้ เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริคเตอร์ที่มณฑลเสฉวนเมื่อช่วงบ่ายวานนี้(12 พ.ค.) อาจมีผลกระทบต่อรอยเลื่อนในประเทศไทยบ้างเล็กน้อย เพราะการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ในโลก เกิดจากรอยเลื่อนทั้งหมด 14 แห่ง
"เหมือนแก้วที่เกิดรอยร้าว รอยแตก หากมีอะไรไปกระทบกระเทือน แก้วก็จะยิ่งแตกมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล และเกิดสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทยมีปฏิกิริยาต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น" นายสมิทธ กล่าว
นายสมิทธ กล่าวว่า หลังเกิดสึนามิดังกล่าวแล้วส่งผลต่อรอยเลื่อนที่ จ.เชียงใหม่และเชียงราย เช่น แผนดินไหวที่เกิดขึ้นที่ อ.แม่ริม มีขนาดและความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงเหตุแผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะแกงในพม่าที่มีขนาด 8.0 ริกเตอร์ ซึ่งรอยเลื่อนสะแกงมีแขนงเข้ามาในไทย คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่อาจมีผลกระทบต่อเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และมาถึงกรุงเทพฯ ได้
ด้าน นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมประสานและเตือนภัย รวมทั้งติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ขณะที่ นายเป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีความเสี่ยงจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเช่นเดียวกับที่ประเทศจีนประสบอยู่ แต่หากอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6-7 ริคเตอร์ ก็มีโอกาสทำให้อาคารพังถล่มลงมาได้
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อม เพราะประเทศไทยไม่มีความพร้อมในการรองรับเท่าที่ควร ซึ่งขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองเพิ่งออกกฎหมายมาควบคุมเท่านั้น โดยกำหนดให้การออกแบบอาคารต้องสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดในภาคเหนือ, กาญจนบุรี, กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ส่วนอาคารที่ก่อสร้างก่อนหน้ากฎหมายดังกล่าวจะออกมาบังคับใช้นั้นมีเพียงบางแห่งเท่านั้นที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอาคารที่มีชั้นล่างเป็นลักษณะเปิดโล่งมากๆ เวลาสั่นโยก โครงสร้างชั้นล่างสุดจะอ่อนแอและอาจพังถล่มลงมาได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ