สธ.เร่งพัฒนาคุณภาพประชากรเป็นวาระแห่งชาติหลังพบโครงสร้างไม่สมดุลย์

ข่าวทั่วไป Friday July 11, 2008 13:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กระทรวงสาธารณสุขเตรียมผลักดันการพัฒนาคุณภาพประชากรให้เป็นวาระชาติ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น แต่แนวโน้มเด็กเกิดใหม่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
"จำนวนวัยแรงงานสร้างเศรษฐกิจในอนาคตลดลง ปัญหาใหญ่ที่ตามมาก็คือผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานทุก 100 คนจะต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูเด็กและผู้สูงอายุเพิ่มจาก 48 คนเป็น 63 คน ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ" นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข กล่าว
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คาดจำนวนประชากรของไทยจนถึงกลางปีนี้มีจำนวน 63.1 ล้านคน เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเกือบ 9 แสนคน และเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนในปี 2568
"ผู้หญิงไทย 1 คนมีบุตรน้อยลงเฉลี่ย 1.5 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทดแทนจำนวนพ่อแม่เมื่อเสียชีวิตไป คาดว่าอีก 22 ปีข้างหน้าผู้หญิงไทยจะมีลูกโดยเฉลี่ยเหลือเพียง 1.35 คนเท่านั้น" นายวิชาญ กล่าว
ดังนั้นประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ขณะนี้มีผู้สูงอายุ 11% ของประชากรทั้งหมด และจากอัตราเพิ่มอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุ คาดการณ์ว่าในอีก 22 ปีข้างหน้า(ปี 2573) ส่วนประชากรวัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีแนวโน้มลดลง จากขณะนี้ 21.5% จะเหลือ 13.5% ทำให้จำนวนวัยแรงงานสร้างเศรษฐกิจในอนาคตลดลง
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน และกลุ่มรักร่วมเพศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ สามารถแข่งขันในสังคมโลกได้ จะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ และผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองการอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นกฎหมายที่ดูแลสุขภาพทางเพศตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงตาย ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีได้ในปลายปีนี้
ด้าน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรและสภาพเศรษฐกิจ สังคมของไทยขณะนี้กระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาให้ครอบครัว มีการหย่าร้างในรอบ 7 ปีนี้เพิ่มขึ้น 20% ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 12 ปี เด็กและเยาวชนมีปัญหาครอบครัวและทำผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนไทยที่เป็นประชากรหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงหลายอย่าง โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น
"จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อายุ 14 ปี ในปี 50 พบนักเรียนทั้งชายหญิงมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเร็วขึ้น อายุเฉลี่ยเพียง 13 ปี ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ตั้งแต่ยังเด็ก" นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ล่าสุดพบหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดลูกเพิ่มจาก 125 ในปี 2544 เป็น 15% ในปี 2549 นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อกามโรคเป็นวัยรุ่นมากถึง 28% ติดเชื้อเอชไอวีปีละประมาณ 9,000 คน ผลเสียที่ตามมาทำให้เด็กกลุ่มนี้เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าหญิงทั่วไปหลายเท่าตัว เพราะเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ