In Focus:ตะลุยสังเวียนโอลิมปิก บุก Bird’s Nest สนามกีฬาแห่งชาติและ Water Cube ศูนย์กีฬาทางน้ำ

ข่าวต่างประเทศ Monday August 4, 2008 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          การที่จีนได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จีนจะได้เปิดประเทศให้เห็นถึงความทันสมัยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สถาปัตยกรรม และฝีมือในวงการกีฬาให้ชาวโลกได้สัมผัส ผลงานแจ้งเกิดที่จีนไฟเขียวให้สร้างขึ้นเพื่ออวดโฉมในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่อย่างโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 นั้น คงจะหนีไม่พ้นสนามกีฬาแห่งชาติ Beijing National Stadium หรือที่ต่อมาได้รับการตั้งฉายาว่า Bird’s Nest ตามรูปลักษณ์ที่เหมือนกับ "รังนก" นั่นเอง
สนามกีฬาแห่งชาตินี้สามารถรองรับผู้ชมได้ 80,000 คน และจะมีการเพิ่มที่นั่งชั่วคราว 11,000 ที่ เพื่อให้รองรับผู้ชมได้เพิ่มขึ้นถึง 91,000 คนในช่วงพิธีเปิดการแข่งขัน โดยสนามกีฬารังนกแห่งนี้จะใช้เป็นสถานที่จัดพิธีเปิดและปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมทั้งกรีฑาและการแข่งขันฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศด้วยเช่นกัน
Bird’s Nest มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากสนามกีฬาที่เคยเห็นทั่วๆไป ด้วยรูปทรงภายนอกที่เป็นโครงเหล็กสานเป็นวงโค้งไปโค้งมาจนมีรูปร่างเหมือนกับรังนก ภายในมีที่นั่งสำหรับผู้ชมด้วยความสูงที่ลดหลั่นกันไป 7 ชั้น หลังคาใช้เยื่อบุสองชั้น โดยส่วนบนของหลังคาเป็นเยื่อโปร่งแสง ซึ่งมีความคงทนต่อการสึกกร่อน ส่วนล่างของหลังคาเป็นเยื่อกึ่งโปร่งแสง เดิมทีสนามกีฬาแห่งนี้จะมีหลังคาเปิด-ปิดชนิดที่เลื่อนได้ แต่ด้วยต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงขึ้นและเหตุผลเรื่องความปลอดภัยทำให้จีนยกเลิกการสร้างหลังคาแบบเปิดปิดไป
กวาง เจาเย ประธานคณะกรรมการประเมินการออกแบบของจีนกล่าวถึง Bird’s Nest ว่า เป็นการออกแบบที่ผสมผสานกันระหว่างความสวยงามและความเรียบง่าย และทุกส่วนของสนามก็สามารถใช้งานให้เป็นประโยชน์ได้
ผู้อ่านสามารถเข้าไปยลโฉมรังนกนี้ได้ที่ http://en.beijing2008.cn/cptvenues/venues/nst/n214078095.shtml
สนามกีฬาแห่งชาตินี้เป็นผลงานการออกแบบร่วมกันระหว่าง Herzog & DeMeuron สถาปนิกชื่อดังจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งออกแบบสนามร่วมกับ China Architecture Design Institute และบริษัท Arup โดย Bird’s Nest ถูกสานขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค. 2547 พร้อมเปิดใช้งานเมื่อเดือนมี.ค. 2551 และใช้เงินทุนประมาณ 4 พันล้านหยวน หรือประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจาก Bird’s Nest แล้ว Water Cube หรือศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติ (National Aquatics Center) ก็เป็นอีกลายเซ็นที่จีนได้อวดฝีมือให้เห็นในเวทีโอลิมปิก ด้วยรูปทรงที่แปลกตา ภายในได้มีการกำหนดอุณหภูมิให้อยู่ในสภาพที่ไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัดจนเกินไป เพื่อที่นักกีฬาอยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการแข่งขัน มากที่สุด
Water Cube ได้แรงบันดาลใจมาจากฟองสบู่ สนามกีฬาทางน้ำแห่งนี้สามารถรองรับผู้ชมได้ 6,000 คน และจุผู้ชมได้เพิ่มขึ้นถึง 11,000 คน สถานที่ตั้งของ Water Cube เองก็ตั้งอยู่ใกล้ๆกับ Bird’s Nest
กำแพงที่ล้อมรอบศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งนี้มีลักษณะเหมือนฟองสบู่ลูกเล็กลูกใหญ่เกาะกันเป็นก้อนสี่เหลี่ยม วัสดุที่ใช้ประกอบเป็นกำแพงและหลังคา คือ ฟองน้ำ ส่วนวัสดุที่ใช้เป็นพื้นผิวภายนอกของอาคาร คือ ETFE membrane ซึ่งช่วยรับแสงจากภายนอกเข้าไปภายในตัวอาคาร
สำหรับหน้าตาของศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติจีนนี้ สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://en.beijing2008.cn/cptvenues/venues/nac/n214078138.shtml
สิ่งที่น่าประทับใจสำหรับศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งนี้ก็คือ ชาวจีนในต่างประเทศได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อใช้เป็นงบลงทุนในการก่อสร้างถึง 1 พันล้านหยวน
บริษัท Arup, PTW Architects ของออสเตรเลีย และบริษัท CSCEC International Design ของจีนร่วมมือกันออกแบบศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งนี้
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนก็ได้รายงานถึงความภาคภูมิใจของดีไซเนอร์จีนที่มีส่วนร่วมในโอลิมปิก ปักกิ่งเช่นกัน โดย ติง เจียนหมิง รองหัวหน้าวิศวกรรมประจำสำนักงานก่อสร้างโครงการโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 กล่าวถึงผลงานการก่อสร้างใหม่ๆที่เกิดขึ้นในประเทศว่า จะช่วยผลักดันให้ดีไซเนอร์จีนไปไกลถึงเวทีการออกแบบระดับโลก และมีส่วนในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียงต่อไป รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้ดีไซเนอร์และบริษัทก่อสร้างภายในประเทศได้ตื่นตัว
และแน่นอนว่า สายตานับล้านทั่วโลกก็คงจะตื่นตากับผลงานแจ้งเกิดที่จีนปลุกปั้นขึ้นในโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008 เช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ